ภูมิปัญญา “อาหารเป็นยา” ของชาวลีซูบนดอยสามหมื่น

ท่ามกลางขุนเขาบนดอยสามหมื่น ที่มีชื่อมาจากสำเนียงลีซูว่า “ซ่าเหมื่น” ซึ่งแปลว่า “สามทาง”
หมายถึงจุดบรรจบของเมืองคอง เมืองแหง จังหวัดเชียงใหม่ และเมืองปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาที่สูง 800 – 1,600 เมตร และมีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ชุมชนลีซูจึงสั่งสมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอาหารการกินที่เป็นทั้ง “อาหารและยาบำรุงสุขภาพ” 

ป้าอาหมี่มะ เลาย้าง หญิงลีซูวัย 60 ปี ชาวบ้านแม่สะลา (บ้านบวกควาย) หมู่บ้านในดอยสามหมื่น ซึ่งอยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะบ้านป่าเกี๊ยะใหม่ ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงความเป็นอยู่ของชุมชนในดอยสามหมื่นที่ในอดีตปลูกข้าวไร่ ผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์และหาของป่าเป็นอาหาร โดยอาหารส่วนใหญ่กินคู่กับน้ำพริก เช่น น้ำพริกคั่ว ที่ภาษาลีซูเรียกว่า “ลาจึติ๊ติ๊ลุลุ” และน้ำพริกมะเขือเทศ เพราะมีรสชาติเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร กระปรี้กระเปร่า เลือดลมไหลเวียนดี มีเรี่ยวแรงในการทำงาน อีกทั้งช่วยให้ร่างกายอบอุ่นในสภาพอากาศหนาวเย็น

น้ำพริกคั่ว (ลาจึติ๊ติ๊ลุลุ) เป็นอาหารที่ชาวลีซู ทำเป็นประจำโดยใช้พริก กระเทียม และเกลือ มาโขลกเข้าด้วยกัน คั่วด้วยไฟกลางให้พริกหอมและแยกชั้นจากน้ำมันก็เป็นอันเสร็จ  โดยตามหลักโภชนาการแล้ว พริก มีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ช่วยในเรื่องการย่อยอาหาร ขับลม ลดระดับน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ทั้งยังขับเหงื่อและมีสารต้านอนุมูลอิสระ กระเทียม ช่วยขับลมและย่อยอาหาร ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด ลดการอักเสบ เหนี่ยวนำให้วิตามินบี 1 ออกฤทธิ์บำรุงระบบประสาท ป้องกันการอุดตันในหลอดเลือด

ป้าอาหมี่มะ ยังเล่าอีกว่า เสน่ห์ของการปรุงน้ำพริกคั่วไม่ใช่เพียงแค่การทำอาหารที่ทุกคนชื่นชอบ แต่ยังทำให้ทุกคนในบ้านได้มารวมตัวกัน ลูกหญิงชายจะมาช่วยกันเด็ดพริก แกะกระเทียม เตรียมฟืน สอนลูกๆ ให้ปรุงน้ำพริกอย่างใจเย็น มีสมาธิ และอดทน คุมไฟให้พอดีไม่ให้พริกไหม้ ขณะที่หลานตัวเล็กๆ ได้นั่งผิงไฟฟังเรื่องเล่าของผู้ใหญ่ การปรุงน้ำพริกจึงเป็นอีกช่วงเวลาที่สำคัญของครอบครัว

ชาวลีซูมักจะกินน้ำพริกคั่วกับพืชผักที่หลากหลาย ทั้งที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้านและในไร่ โดยมีภูมิปัญญาด้านโภชนาการอาหาร และการปรับสมดุลของธาตุในร่างกาย ได้แก่

กลุ่มผักใบ

  • ผักกาดหอมต้น (อูสุจือ) เป็นยาระบาย บรรเทาอาการท้องผูก
  • ผักกาดดอย (อู่พี) บำรุงสายตา และทำให้ขับถ่ายได้ดี
  • ผักโขมดอย (ฮีหงู่) ปรับอุณหภูมิในร่างกาย
  • ผักอีเรือน (ฉะช่าย) ช่วยขับลม ลดกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์
  • หอมชู (เป่ฉ้าย) ช่วยปรับสมดุลของธาตุในร่างกาย

กลุ่มผักผล

  • แตงกวาดอย (อะฟู) ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ดับกระหาย เพิ่มความสดชื่น และขับปัสสาวะ
  • มะเขือ (ควาควาซึ) ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับง่าย และระงับอาการปวดฟันได้
  • มะระขี้นก (อ่าคะวาสึ) ลดความกระหายน้ำ ดับพิษในร่างกาย ทำให้เจริญอาหารและนอนหลับดี
  • ถั่วฝักยาว/ถั่วพุ่ม (อะแหวะวูอะนู) ช่วยบำรุงสายตา และปรับสมดุลของธาตุในร่างกาย
  • มะระหวาน (มะนะสึ) ช่วยลดอาการท้องผูก ทำให้ขับถ่ายได้ดี

นอกจากน้ำพริก การถนอมอาหารเก็บไว้กินยามฤดูแล้งที่ของสดมีน้อยเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวลีซู เช่น ผักกาดดอง (อู่ยี) ผักกาดตากแห้ง (อู่จู) รากชูดอง (เป่ฉ้ายจู) และหมูน้ำค้าง (แลจูควา) เป็นต้น

  • การนั่งรับประทานอาหารล้อมวงกันบนม้านั่งตัวเล็กๆ (ป่าตื๋อ) เรี่ยพื้น และรับประทานอาหารบนภาชนะไม้ไผ่สาน หรือไม้เตี้ยๆ ที่เรียกว่า เมจู หรือ โตก ในภาษาพื้นเมืองล้านนา จึงเป็นห้วงเวลาแห่งความสุข  เพราะนอกจากจะเป็นช่วงเวลาของการรับประทานอาหารแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาของการสานความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานและผู้สูงอายุในครอบครัวในการแลกเปลี่ยนเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตด้วยกัน

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กชพร สุขจิตภิญโญ ชัยเจริญ นิติคุณชัย และ ณฐภัทร สุวรรณโฉม
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:
  • ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจากผู้รู้ กลุ่มสตรี และเยาวชน บ้านแม่สะลา (บวกควาย) บ้านสามหมื่น และบ้านน้ำรู ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะบ้านป่าเกี๊ยะใหม่ ได้แก่ นางอาหมี่มะ เลาย้าง  นางปิงก่อ  แซ่ย่าง   นางอำไพ  เหน่คำ   นางวิภารัตน์  วงษ์ไกรวาล   นายเลาหลู่  แซ่หลี ด.ญ. เหมือนฝัน วงษ์ไกรวาล และ ด.ญ. กัญญาพัค พัชรอังกูร


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง