“ทุกวันนี้ผู้หญิงสามารถทำงานได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน”
นางบุษยารัตน์ อินทะราชา อายุ 53 ปี ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ
เมื่อถึงวันสตรีสากล (International’s Women Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ภาพในอดีตมักนึกถึงการเรียกร้องสิทธิของแรงงานสตรีในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวันสตรีสากลในช่วงปี พ.ศ. 2450-2453 แต่ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDG) เป้าหมายที่ 5 ครอบคลุมเรื่องสิทธิ โอกาส และบทบาทหญิงชายที่เท่าเทียมในการพัฒนา
ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สตรีมีบทบาทอย่างมากในภาคธุรกิจ รายงาน UN Women ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่าบทบาทของสตรีในภาคธุรกิจของประเทศไทย มีสัดส่วนของสตรีที่เป็นผู้บริหารระดับสูง คิดเป็น 32% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก คือ 27% และของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือ 26% แล้วบทบาทของสตรีในภาคชนบทและพื้นที่สูงของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาคธุรกิจหรือไม่? แม้จะไม่มีการรวบรวมข้อมูลยืนยันตัวเลขในลักษณะเดียวกับภาคธุรกิจ แต่ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนคือสตรีในชุมชนโครงการหลวงซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และมีความยากจน มีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปในการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวแบบ “เคียงบ่า เคียงไหล่”
ผลการศึกษา1 พบว่าสตรีชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่ เมี่ยน คนไทยพื้นเมือง อาข่า และจีนยูนนาน (กลุ่มสตรีตัวอย่างทั้งสิ้น 1,823 ราย) ในศูนย์/สถานีโครงการหลวง 12 แห่ง มีความพึงพอใจต่อ การเปลี่ยนแปลงบทบาทของสตรีในชุมชนโครงการหลวงในระดับปานกลาง-มาก คิดเป็น 72% และระดับมากที่สุด 19% อีกทั้งมีความเห็นว่าบทบาทสตรีได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก โดยปัจจุบันสตรีสามารถทำงานนอกบ้านและมีส่วนร่วมในการหารายได้ของครัวเรือน สตรีได้เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น โดยความคิดเห็นของสตรีได้รับการยอมรับมากขึ้น มีกิจกรรมในชุมชนให้สตรีได้พัฒนาตนเอง และสตรีมีบทบาททางการเมืองท้องถิ่นเพิ่มขึ้น คำตอบของเรื่องนี้ไม่ได้สิ้นสุดที่บทบาทของสตรีที่เพิ่มขึ้น แต่นำไปสู่คำถามที่สำคัญกว่าคือบทบาทของสตรีในชุมชนโครงการหลวงเปลี่ยนแปลงไปได้เพราะปัจจัยใด?
การพัฒนาแบบโครงการหลวงที่ส่งเสริมอาชีพบนฐานความรู้จากผลงานวิจัยและการตลาดที่แม่นยำควบคู่กับการเสริมสร้างชุมชนให้พึ่งพาตนเอง การรักษาป่าต้นน้ำ และการบูรณาการความร่วมมือกับชุมชน ภาครัฐ เอกชน และนานาชาติ ได้สร้างงานและอาชีพที่มั่นคงให้ครัวเรือนทำให้สตรีได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในแปลงพร้อมกับชาย สตรีมีบทบาทเป็นเจ้าของกิจการที่ต้องร่วมตัดสินใจเลือกชนิดพืชเพาะปลูกในแต่ละช่วงเวลา การเป็นผู้จำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพ และเป็นแรงงานฝีมือดีในการเพาะปลูกพืชแบบประณีตและการผลิตงานหัตถกรรม ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มสตรีเข้าร่วมการส่งเสริมอาชีพของโครงการหลวง ประกอบด้วย การปลูกพืช 79% งานหัตถกรรม 15% การเลี้ยงสัตว์ 3% และอื่นๆ นอกจากนี้สตรียังได้รับการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสตรีแม่บ้าน 39% สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวง 27% กลุ่มออมทรัพย์ 15% กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 12% และอื่นๆ รวมถึงเข้าร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปลูกป่า ทำแนวกันไฟ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ปลูกแฝก การจัดการขยะและน้ำเสีย และเครือข่ายลุ่มน้ำ
การยกระดับบทบาทของสตรีในชุมชนโครงการหลวง เกิดขึ้นได้จากการพัฒนาที่ครอบคลุมมิติ การสร้างอาชีพที่มั่นคงบนฐานความรู้ การเสริมสร้างพลังของกลุ่มสตรี และโอกาสที่เท่าเทียมในการร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือกระบวนการพัฒนาแบบโคงการหลวง ที่มีความต่อเนื่องและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง
1แหล่งข้อมูล: รายงานผลการศึกษาบทบาทสตรีชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนในชุมชนโครงการหลวง 12 แห่ง (สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง แม่แฮ แม่แพะ แม่สาใหม่ ห้วยลึก ป่าเมี่ยง ห้วยโป่ง ห้วยน้ำขุ่น ปังค่า ผาตั้ง และพระบาทห้วยต้ม) โดยสำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ร่วมกับงานสังคม การศึกษา และสาธารณสุข ฝ่ายงานวิจัยและพัฒนา มูลนิธิโครงการหลวง, พ.ศ.2564