การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

สวพส. มุ่งมั่นพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อก้าวสู่การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

นโยบายการพัฒนาเกษตรกรไทยให้ก้าวสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือที่เรียกว่า Smart Farmer ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการวางรากฐานความมั่นคงในภาคการเกษตรเพื่อรองรับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้ โมเดลประเทศไทย 4.0 มุ่งเน้นการพัฒนาต้นทุนหลักของภาคเกษตรนั้นก็คือทุนมนุษย์ซึ่งหมายถึงตัวเกษตรกรนั่นเอง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามภารกิจหลักของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โดยมีเป้าหมายการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของสถาบันให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง จำนวน 450 ราย มีการดำเนินงานกิจกรรมหลักที่สำคัญ คือ การสำรวจและคัดกรองเกษตรกรตามคุณสมบัติพื้นฐานที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด การจัดทำแผนและดำเนินกิจกรรมพัฒนาเกษตรกรเพื่อยกระดับการพัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง ประกอบด้วย การจัดอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร การจัดศึกษาดูงานให้กับผู้นำเกษตรกร และการพัฒนาแปลงเกษตรกรให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง รวมถึงได้ดำเนินการถอดองค์ความรู้จากเกษตรกร และจัดทำเอกสารเผยแพร่องค์ความรู้จากเกษตรกร และการจัดทำทะเบียนเกษตรกรปราดเปรื่องเพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลสำหรับใช้ในการวางแผนการทำงานพัฒนาพื้นที่สูงได้ต่อไป

 

ภาพกิจกรรมการพัฒนากลุ่มผู้นำเกษตรกรเพื่อพัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

จากการดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว สถาบันสามารถพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของ ให้ก้าวสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนของตนเอง ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดน่าน เนื่องจากเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักที่สำคัญในการดำเนินงานพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการบุกรุกพื้นที่ป่าสอดคล้องตามนโยบายของรัฐในการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่และคืนพื้นที่ป่าในจังหวัดน่านให้กลับมาอุดมสมบูรณ์

นายชวกร ศุภาสันสกุล เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงขุนสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ปัจจุบันอายุ 42 ปี จากเดิมมีอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกะหล่ำปลี โดยใช้พื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดรวม 30 ไร่ ซึ่งพื้นที่เกษตรเป็นที่ดินไหล่เขา มีความลาดชันสูง อีกทั้งยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ซึ่งเสี่ยงต่อการบุกรุกพื้นที่ป่า ในแต่ละปีมีรายได้จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกะหล่ำปลีเฉลี่ยประมาณ 129,600 บาท แต่เมื่อคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายในภาคการเกษตรทั้งหมดประมาณ 176,580 บาท ต่อปี ซึ่งเมื่อคิดรายได้หักต้นทุนแล้วพบว่ารายได้ติดลบมาโดยตลอด แต่เนื่องจากไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก ประกอบกับไม่มีความรู้ในการปลูกพืชชนิดใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องทำการเกษตรแบบเดิมมาโดยตลอด ต่อมาในปี 2557 ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมด้านการพัฒนาอาชีพกับโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงขุนสถาน โดยเริ่มต้นจากการเข้าร่วมการอบรม การศึกษาดูงาน มีการติดตามให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของสถาบันซึ่งเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักและไม้ผลเมืองหนาวภายใต้ระบบมาตรฐานสากลควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นจึงตัดสินใจปลูกพริกหวานในโรงเรือนและสตรอเบอรี่ โดยใช้พื้นที่ปลูกทั้งหมดจำนวน 1 ไร่ 1 งาน ในปี 2558 นายชวกรมีรายได้จากการปลูกพืชทั้งสองชนิดรวมเฉลี่ยต่อปี 856,000 บาท คิดเป็นต้นทุนรวม 141,490 บาท สรุปรายได้หักต้นทุน 714,510 บาท โดยส่งผลผลิตให้กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จ.พะเยา ซึ่งมีการวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ในทุกรอบการผลิต และจากการสัมภาษณ์ข้อมูลพบว่าเกษตรกรมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในอาชีพทางเลือกใหม่อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการลดการใช้พื้นที่เพาะปลูกจากเดิม 30 ไร่ เหลือเพียง 1 ไร่ 1 งาน แต่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงความเหนื่อยยากในการทำงานที่ลดลง การใช้สารเคมีที่ลดปริมาณลงอย่างมาก เนื่องจากการผลิตพืชอยู่ภายใต้การควบคุมตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และมีการใช้ปุ๋ยหมักทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรอีกด้วย ปัจจุบันนายชวกรสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกพริกหวานและการปลูกสตรอเบอรี่ให้กับผู้สนใจรายอื่นๆ ได้ครบทุกขั้นตอน และปัจจุบันเป็นแปลงตัวอย่างที่ได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว

เกษตรกรอีกหนึ่งรายที่สามารถเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และเป็นแปลงเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างดี คือ นางเหยี่ยงชุน แซ่ยี่ หรือที่เรียกกันว่า ป้าวิมล เกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จากเดิมรายได้หลักมาจากการปลูกไม้ดอกและการปลูกผักนอกโรงเรือน ซึ่งต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูงทำให้ในแต่ละปีเมื่อคิดรายได้หักต้นทุนทั้งหมดแล้วตัวเลขติดลบเป็นหลักหมื่น ต่อมาจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นเกษตรกรภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยติดตาม ให้คำแนะนำ สนับสนุนปัจจัยการผลิตในเบื้องต้น คุณป้าวิมลจึงเริ่มต้นปลูกผักในโรงเรือน สตรอเบอรี่ โดยรายได้หลักมาจากสตอเบอร์รี่ สำหรับรายได้รวมเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 264, 500 บาท ต้นทุนรวมเฉลี่ยต่อปี 132,177 บาท รายได้หลังหักต้นทุนเฉลี่ยต่อปี 132,323 บาท ปัจจุบันป้าวิมลได้ปลูกพืชอื่นเสริมรายได้ เช่น องุ่น เคพกูสเบอรี่ อโวคาโด โดยมีการวางแผนสร้างรายได้ทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงหมูหลุมเพื่อนำปุ๋ยคอกมาใช้ในการผลิตพืช ช่วยลดต้นทุนในการผลิตเป็นอย่างมาก รวมถึงการผลิตพืชทุกชนิดภายใต้ระบบ GAP ทำให้แปลงของป้าวิมลมีผู้สนใจมาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และยังเปิดรับนักท่องเที่ยวที่สนใจให้สามารถมาซื้อผลผลิตจากแปลงอีกด้วย

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นางสาวเพียงออ ศรีเพ็ชร
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

การสัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำพื้นที่ ภายใต้การดำเนินงานโครงการจัดการองค์ความรู้งานพัฒนา สำนักพัฒนา ปี 2559-2560


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง