“7 ปี ขุนสถาน” กับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต



ครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ สวพส. ร้อยละ 90 ในพื้นที่ขุนสถานมีรายได้จากภาคการเกษตรในรอบ 7 ปี เพิ่มขึ้น จากเดิม 122,397 บาท เป็น 316,206 บาท ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดตั้งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2548 ได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน กำแพงเพชร และกาญจนบุรี โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้โครงการหลวง ภูมิปัญญาท้องถิ่น และงานวิจัยในการพัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคงด้านอาหาร การสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

การดำเนินงานในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงขุนสถาน เริ่มจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ได้มีหนังสือถึงประธานมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อขอรับการพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูง เนื่องจากมีปัญหาการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำเพื่อทำการเกษตรและการพังทลายของหน้าดิน ในปี พ.ศ. 2553 สวพส. ได้เริ่มดำเนินงานในพื้นที่บ้านขุนสถาน หมู่ที่ 3 และบ้านแสนสุข หมู่ที่ 9 ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า และการใช้สารเคมีเพื่อปลูกกะหล่ำปลีอย่างเข้มข้น โดยนำองค์ความรู้โครงการหลวงไปถ่ายทอด ปรับระบบการปลูกพืชให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวางแผนการส่งเสริมอาชีพ โดยส่งเสริมการปลูกพืชชนิดใหม่ที่ใช้พื้นที่น้อย ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง และมีตลาดรองรับ ได้แก่ พริกหวาน มะเขือเทศโทมัส องุ่น อาโวคาโด สตรอเบอร์รี่ และไม้ผลชนิดอื่นๆ ส่งผลให้ครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ สวพส. ร้อยละ 90 ในพื้นที่ขุนสถานมีรายได้จากภาคการเกษตรในรอบ 7 ปี เพิ่มขึ้น จากเดิม 122,397 บาท เป็น 316,206 บาท ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 และมีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในระดับสูง คือ ร้อยละ 93.3 เนื่องจากมีที่ดินทำกิน ระบบชลประทานที่ดี และความหลากหลายของพืชที่ปลูก ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่มีคะแนนเฉลี่ย 3.75 เป็น 3.85 ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของชุมชนในมิติความสัมพันธ์ทางสังคมมีแนวโน้มลดลง



ครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ สวพส. มีความเห็นว่าการดำเนินงานของ สวพส. มีความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน อย่างไรก็ตามการพัฒนาในระยะต่อไปจำเป็นต้องมีการยกระดับการพัฒนาในหลายด้าน เพื่อให้เกิดความสมดุล ทั้งการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย การตลาด ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน การรวมกลุ่มเกษตรกร การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่



การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงขุนสถานในรอบระยะเวลา 7 ปี

หมายเหตุ : ระดับการเปลี่ยนแปลง แบ่งได้ดังนี้ 0.51 - 1.50 = น้อยที่สุด, 1.51 - 2.50 = น้อย, 2.51 - 3.50 = ปานกลาง, 3.51 - 4.50 = มาก, 4.51 – 5.00 = มากที่สุด

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นางสาวเกษราภร ศรีจันทร์ และนางสาวกชพร สุขจิตภิญโญ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง