ไผ่ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของคนไทยมาช้านาน ซึ่งทุกส่วนของไผ่ตั้งแต่ราก ลำต้น ไปจนถึงยอด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้หน่อไผ่สำหรับบริโภคเป็นอาหาร ลำไผ่ใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ใบไผ่ใช้ห่อขนม รากไผ่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน หรือแม้กระทั่งใช้เป็นยารักษาโรค
นอกจากนั้นไผ่ยังมีความสำคัญต่อวิถีของชุมชนในแง่ของพิธีกรรมบางอย่างด้วย ซึ่งความหลากหลายของไผ่ในแต่ละพื้นที่นอกจากจะผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติแล้วยังต้องผ่านการคัดเลือกโดยสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของชุมชนด้วย ทำให้ไผ่บางชนิดมีปริมาณที่น้อยลงหรือสูญหายไป จึงนับได้ว่าไผ่มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจ-สังคมต่อคนไทยในชนบท ดังนั้น การสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไผ่และการนำไผ่มาใช้ประโยชน์ของชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง สามารถใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านเพื่อการใช้ประโยชน์ รวมถึงหาแนวทางในการรักษาความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไผ่ไว้
ไผ่ที่พบในปัจจุบันของประเทศไทย ขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา โดยบางชนิดมีการนำเข้ามาปลูกจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป สำหรับในประเทศไทยพบไผ่อยู่ 16 สกุล 85 ชนิด
ไผ่ที่สำรวจพบในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงทั้งหมด 21 แห่ง รวม 25 ชุมชน พบชนิดพันธุ์ไผ่ทั้งหมด 40 ชนิดพันธุ์ โดยเป็นไผ่ที่พบตามธรรมชาติ 29 ชนิด และไผ่ที่นำเข้ามาปลูก 11 ชนิด ซึ่งพื้นที่ที่พบความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไผ่มากที่สุด 20 ชนิดพันธุ์ คือพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ โดยพบไผ่ขมมีปริมาณมากที่สุด ลักษณะเป็นไผ่ลำเดียว ไม่แตกกอ และสามารถพบได้เพียงในพื้นที่วังไผ่เท่านั้น โดยไผ่แต่ละชนิดมีการกระจายตัวตามระดับความสูงของพื้นที่แตกต่างกัน บางชนิดสามารถพบได้ทุกพื้นที่สำรวจแต่บางชนิดพบได้แค่บางพื้นที่สำรวจ ดังนี้
จำนวนชนิดพันธุ์ไผ่ที่พบใน 25 ชุมชนของพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงทั้งหมด 21 แห่ง