เรื่อง: พีระพล ดำงาม
หากชุมชนอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร เป็นอุปสรรคในการเดินทาง หรือคิดไปถึงเรื่องความเจริญของชุมชน ก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง แล้วถ้ามองไปถึงเรื่องของปากท้องล่ะ.. อาหารการกินคงจะลำบากไม่แพ้กัน แต่ก็มีบางหมู่บ้านที่ชีวิตความเป็นอยู่อาจจะแตกต่างจากที่อื่น ด้วยปัจจัยเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ให้พอมีพอกินได้
บ้านแม่เหลอ ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนชาวเขาเผ่าปะกอเกอญอ เข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2504 หมู่บ้านตั้งในหุบเขา ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอถึง 72 กิโลเมตร ปัจจุบันมี 42 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 189 คน บ้านแม่เหลอเป็นหนึ่งในพื้นที่พัฒนาศักยภาพของโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2554 โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมโครงการทำหน้าที่ประสานงาน บริหารจัดการ เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงบูรณาการร่วมกับครู ศศช. และหน่วยงานร่วมปฏิบัติงานจำนวน 9 หน่วยงาน โดยเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนในการทำแนวทางองค์ความรู้โครงการหลวงเพื่อขยายผลลงสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
การคมนาคมยากลำบาก การเดินทางมาหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นทางดิน หิน สลับกับทางน้ำ ที่ต้องเลาะห้วยบ้าง ข้ามน้ำบ้าง เรียกว่าเป็นการขึ้นเขาลงห้วยอย่างแท้จริง และด้วยความที่การเดินทางเข้าออกยากเช่นนี้ ชุมชนจึงต้องพึ่งพาตนเองอย่างสูง โดยการเฉพาะการอุปโภค บริโภค สิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตรองจากข้าว นั่นก็คือ “หมู”
เดิมทีชุมชนนี้มีการเลี้ยงหมูอยู่แล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของชุมชน เพราะหมูสามารถเป็นได้ทั้งอาหาร ใช้ประกอบพิธีกรรม และขายเป็นรายได้ หมูจึงเปรียบเสมือนออมสินของบ้านที่สามารถนำมาบริโภคได้ และแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้เมื่อยามจำเป็น
จากความต้องการของชุมชนข้างต้น ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนและสำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่สะเรียงได้จัดการอบรมให้ความรู้การเลี้ยงสุกรเบื้องต้น ต้องทำอาหารหมัก พร้อมทั้งสนับสนุนพันธุ์สุกรและไก่ รวมไปถึงกองทุนยาและกองทุนอาหารให้กลุ่มสมาชิกบริหารจัดการกันเอง โดยมีการสนับสนุนสุกรพันธุ์ลูกผสมจำนวน 36 ตัว (ตัวเมีย 30 ตัว ตัวผู้ 6 ตัว) สมาชิก 18 ราย โดยเลี้ยงแบบขังคอกจำนวน 6 ราย เลี้ยงแบบหมูหลุม 12 ราย มีข้อตกลงภายในกลุ่มชัดเจน การดำเนินงานที่เข้มแข็งของสมาชิกกลุ่มทำให้ผลผลิตภายในปี 2554 มีแม่หมูคลอด 19 แม่ ได้ลูกหมู 133 ตัว
ต่อเนื่องจากความสำเร็จของปี 2554 ในปีงบประมาณ 2555 จึงมีการกระจายลูกสุกรไปยังสมาชิกรายต่อไป 24 ราย รวมถึงบ้านบริวาร 8 ราย รวมมีสมาชิกทั้งหมด 42 ราย ปัจจุบันมีแม่หมูคลอเพิ่มอีก 9 แม่ มีลูกหมู 52 ตัว แม่หมูที่กำลังตั้งท้อง 4 ตัว สมาชิกกลุ่มมีรายได้จากการเลี้ยงหมูรวมทั้งหมด 35,000 บาท และที่บริโภคเองอีก 15 ตัว ปัจจุบันชุมชนบ้านแม่เหลอจึงกลายเป็นแหล่งซื้อขายหมูให้กับชุมชนใกล้เคียง
ผู้นำชุมชนเข้มแข็ง มองการณ์ไกล สามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับชุมชนได้ และรับการยอมรับจากชุมชน ทำให้การกำหนด กฎ กติกาในการบริหารจัดการกลุ่มต่างๆในชุมชนได้รับการยอมรับและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กลุ่มมีความเข้มแข็ง และหมุนต่อไปได้ด้วยตนเอง
“ก่อนหน้านี้ปศุสัตว์ให้งบสนับสนุนมา 9,000 บาท แต่ปัจจุบัน ได้เพิ่มเป็น 20,000 บาท ทุกคนในหมู่บ้านมีหมูเลี้ยงทุกบ้าน มีกินมีใช้ บางบ้านก็จำหน่ายให้หมู่บ้านอื่นได้ ถ้ามีเยอะ เรื่องกองทุนอาหาร เมื่อก่อนก็มีงบประมาณให้ 3,500 บาท แต่จากการดูแล บริหารจัดการ ปัจจุบันมีเงินทุนอาหาร 12,000 บาท และเปลี่ยนวิถีชีวิตในชุมชนของเราจากที่เคยเลี้ยงปล่อย มาเลี้ยงแบบขังคอก และเลี้ยงแบบหมูหลุมทำให้หมู่บ้านสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็นอีกด้วย ทุกวันนี้หมูได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ล่อเลี้ยงชุมชน สมเป็นหมูออมสินจริงๆ”
ที่มา: วารสาร สวพส. ฉบับที่ 3