สภาพพื้นที่ปลูกข้าวไร่ของเกษตรกร
อาศัยอยู่ใน ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ส่งเสริมของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้หลัก เช่น การปลูกข้าว และเลี้ยงโค กระบือ ส่วนอาชีพเสริม คือ รับจ้าง หาของป่า และหัตถกรรม
ทุกครัวเรือนจะปลูกข้าวไร่เพื่อใช้บริโภคตลอดปี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 260 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับผลผลิตข้าวไร่เฉลี่ยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ (350 กิโลกรัมต่อไร่) ผลสำรวจพบว่า เกษตรกรปลูกข้าวไร่บนพื้นที่ลาดชัน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ อีกทั้งเกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ดำเนินการโครงการวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ด้วยการจัดการธาตุอาหารที่ให้เหมาะสมสำหรับข้าวไร่
การอบรมสาธิตวิธีการใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวไร่
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 - 2553 ได้เก็บตัวอย่างดินและใบข้าวไร่ของเกษตรกรไปวิเคราะห์สมบัติดินและสถานะธาตุอาหารพืช ซึ่งผลการวิเคราะห์ดิน พบว่าดินมีความเป็นกรดจัด – กรดปานกลาง (5.1 – 5.6) มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง (5.2 - 7.8%) มีค่าการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วงที่ปลอดภัย (0.08 - 0.21 dS/m) และผลการวิเคราะห์สถานะธาตุอาหารในใบข้าวไร่ พบว่าธาตุอาหารที่ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตข้าวไร่ ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง และโบรอน ซึ่งการขาดธาตุอาหารดังกล่าวมีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตพืชดังนี้ การขาดแคลเซียมและโบรอนจะยับยั้งการเจริญของราก การขาดธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม สังกะสีและโบรอน มีผลต่อการพัฒนาลำต้นและใบพืช การขาดฟอสฟอรัสและโบรอนยับยั้งการออกดอก ทำให้จำนวนดอกลดลง ขณะที่การขาดทองแดงและโบรอน มีผลต่อการผสมเกสรและการติดเมล็ด และการขาดไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียมและสังกะสี จะลดความสามารถในการสังเคราะห์แสงของพืช ส่งผลให้ปริมาณแป้งที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเมล็ดข้าวลดลง
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2556 นักวิจัยจึงได้วางแผนทดสอบการจัดการธาตุอาหารเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ร่วมกับเกษตรกร โดยเพิ่มธาตุอาหารที่ไม่เพียงพอลงไปเปรียบเทียบกับการจัดการธาตุอาหารแบบเดิมของเกษตรกร พบว่าการเพิ่มธาตุอาหารสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวไร่เฉลี่ย 53 เปอร์เซ็นต์ โดยผลผลิตข้าวไร่เพิ่มขึ้นจาก 290 กิโลกรัมต่อไร่เป็น 450 กิโลกรัมต่อไร่ ในแปลงเกษตรกรจำนวน 7 ราย และได้สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวไร่ในพื้นที่ขยายผลโครงการหลวงแม่สองดังนี้
แปลงที่ใส่ปุ๋ยแบบเดิม (ซ้าย) และ แปลงที่ใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ (ขวา)
วันใส่ปุ๋ย | ชนิดปุ๋ย | ปริมาณ (กก./ไร่) |
---|---|---|
วันปลูก | โดโลไมท์ | 25 |
หินฟอสเฟต | 50 | |
30 วันหลังงอก | 46 – 0 – 0 | 10 |
ซิงค์ซัลเฟต | 1 | |
คอปเปอร์ซัลเฟต | 1 | |
บอริค แอซิค | 1 | |
ปุ๋ยหมัก/ขี้วัว/ขี้หมู | 2 กระสอบ | |
ก้านใบยาสูบ | 1 กระสอบ |
จากผลสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตข้าวไร่โดยการจัดการธาตุอาหารพืช ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวน 22 ราย นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการธาตุอาหารพืชไปใช้ในแปลงปลูกข้าวไร่ของตนเอง