เห็ดป่า.....หาได้ทุกปี..ไม่มีลด?

เมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน เท่ากับว่าฤดูกาลของเห็ดป่ากำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง

จากสถานการณ์ไฟป่าและปัญหาหมอกควันที่ผ่านมา การเก็บหาเห็ดป่าโดยเฉพาะเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบต้องตกเป็นจำเลยสังคมว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศ เนื่องจากมีความเข้าใจว่าในการหาเห็ดชนิดนี้จะต้องมีการเผาป่าก่อนถึงจะมีเห็ดเกิดขึ้น

ซึ่งอันที่จริงแล้วเห็ดจัดเป็นเชื้อราประเภทหนึ่งโดยมีการเจริญเป็นเส้นสาย (hyphae) ในระยะหนึ่ง และมีการรวมตัวของเส้นใยเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์ขนาดใหญ่ (fruit body) ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและสามารถใช้มือเก็บได้ โดยส่วนใหญ่แล้วเห็ดจะดำรงชีวิตเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นสารอินทรีย์ขนาดเล็กเพื่อนำเข้าไปใช้ในการเจริญของตนเองและช่วยหมุนเวียนสารอาหารในระบบนิเวศ โดยจะเรียกเห็ดกลุ่มนี้ว่า กลุ่มเห็ดผู้ย่อยสลายหรือกลุ่มเห็ดแซบโพรบ (saprobe) เช่น เห็ดฟาง เห็ดโคนน้อยหรือเห็ดถั่วเน่า เห็ดนางรมนางฟ้า เห็ดบด เห็ดขอนขาว เห็ดหอม และเห็ดหูหนู เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งเป็นเห็ดที่มีการดำรงชีวิตร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นเรียกว่า เห็ดกลุ่มซิมไบโอซิส สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) เห็ดที่ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกับพืชเรียกว่า กลุ่มเห็ดไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) เช่น เห็ดขมิ้นเห็ดมันปู เห็ดผึ้งหรือเห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ เห็ดไคหรือเห็ดหล่ม และเห็ดระโงก เป็นต้น และ 2) เห็ดที่ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกับปลวก ได้แก่ กลุ่มเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน นอกจากที่กลุ่มเห็ดที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีเห็ดที่ดำรงชีวิตเป็นปรสิตของพืชยืนต้นหรือเห็ดด้วยกันอีกด้วย ซึ่งจะเรียกเห็ดกลุ่มนี้ว่า กลุ่มเห็ดปรสิต (parasite)เช่น เห็ดหลินจือ หรือเห็ดหมื่นปี ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่แพร่หลายมานาน

 

เส้นใยเห็ด

เห็ดโคนข้าวตอก

เห็ดเผาะ

 

โดยในครั้งนี้จะขอกล่าวถึงการเก็บหา เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ ตามความเชื่อของชาวบ้านที่สืบต่อกันมา ซึ่งแต่เดิมนั้นความเชื่อนี้เกิดจากการสังเกตของคนรุ่นก่อนๆ ที่พบว่าเห็ดมักจะไปเกิดในพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ป่า โดยเฉพาะบริเวณที่ติดกับขอนไม้ที่ไฟไหม้ไม่หมดหรือกอหญ้า ซึ่งจะพบเห็ดเป็นจำนวนมาก จากนั้นได้มีการบอกต่อ ๆ กันมา เช่น “...ตรงนี้ไฟไม่ไหม้ไม่มีเห็ดหรอก...” หรือ “...ต้องรอไฟไหม้ก่อน เห็ดถึงจะออก...” จนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “...ต้องเผาป่าก่อนเห็ดถึงจะออก...” ซึ่งหากเรามาลองพิจารณาดีๆ แล้ว จะพบว่าการเกิดไฟป่าตามธรรมชาติในสมัยก่อนนั้นมิได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ทุกปี การเกิดไฟไหม้หรือไฟป่าในพื้นที่เดิมนั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ขึ้นไป เนื่องจากวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณลดลงหลังจากการเกิดไฟไหม้ และเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบเองก็เป็นสิ่งมีชีวิตหากถูกไฟเผาก็เหมือนกับที่เราซื้อเห็ดไปคั่วหรือย่างไฟ เส้นใยเห็ดเมื่อโดนความร้อนก็จะไม่สามารถเจริญต่อไปได้ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือเห็ดสุกนั่นเอง เมื่อมาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั้น พบว่าคนบางกลุ่มที่ต้องการหาเห็ดไปขายในปริมาณมากๆ จึงลักลอบเผาป่าเพราะคิดว่าจะมีเห็ดออกมาให้เก็บหา ส่งผลให้ปริมาณเห็ดป่าในธรรมชาติลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดที่เกิดเหนือผิวดิน เช่น เห็ดไข่ห่านหรือเห็ดระโงก เห็ดแดง เห็ดด่าน เห็ดโคน เป็นต้น และในปีถัดไปหลังจากเกิดไฟไหม้จะพบว่าเห็ดเผาะเองก็มีปริมาณลดลงไปมากเช่นกันจนเกือบจะไม่เจอเห็ดเผาะในพื้นที่นั้นอีกเป็นเวลา 3-5 ปี ซึ่งเป็นผลจากการที่เชื้อเห็ดที่เกิดเหนือผิวดินถูกทำลายโดยความร้อนจากไฟป่า ทั้งนี้มิใช่เพียงแค่เชื้อเห็ดเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบนี้ แต่ยังรวมไปถึงแหล่งอาหารของเห็ดซึ่งก็คือเศษใบไม้ที่ร่วงหล่นปกคลุมผืนดินในป่าและต้นกล้าของต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเห็ดอีกด้วย

 

เห็ดแดง

เห็ดไข่เหลือง

เห็ดขมิ้น

 

การทำให้มีเห็ดออกและเก็บได้ตลอด

วิธีทำนั้นง่ายมาก สามารถทำได้ดังนี้:

  1. เวลาที่เก็บเห็ดต้องเหลือส่วนหนึ่งไว้ให้เป็นแม่เชื้อในธรรมชาติต่อไปด้วยไม่ใช่เก็บมาทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ที่เจอคือเก็บหมดไม่มีเหลือ อันนี้ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ
  1. เติมเชื้อในต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัย โดย เพาะกล้าไม้วงศ์ยางที่เป็นพืชอาศัยของเห็ด แล้วนำสปอร์ของเห็ดผสมน้ำแล้วนำไปหยอดในถุงหรือใช้สปอร์คลุกกับดินที่ใช้ปลูกกล้าไม้เลยก็ได้ อนุบาลกล้าไม้ไว้ประมาณ 1 ปี แล้วค่อยนำไปปลูกในแปลงหรือสวน ใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี เห็ดมีการเจริญเติบโตและสามารถเก็บไปกินได้
 

วงจรการเกิดเห็ดเผาะในธรรมชาติ

หากเราเพาะกล้าไม้และเติมเชื้อเห็ดแล้วนำไปปลูกทุกปี เมื่อเห็ดเริ่มมีเห็ดออกครั้งแรกแล้วเราจะสามารถเก็บเห็ดได้ต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเห็ดในธรรมชาติและผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของเห็ดไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการเผาป่าที่เป็นสาเหตุของปัญหาหมอกควันอีกทางหนึ่งด้วย

ในกรณีที่มีต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเห็ดอยู่แล้ว สามารถนำสปอร์ของเห็ดไปใส่ได้เลย แต่อาจต้องใช้ปริมาณมากสักหน่อย โดยสามารถใส่ได้ตั้งแต่ต้นฤดูฝนไปจนถึงปลายฤดู เพราะเป็นช่วงที่ต้นไม้กำลังเจริญเติบโตและมีความชุ่มชื้นเหมาะต่อการเจริญของเส้นใยเห็ด แต่ต้องใช้ระยะเวลานาน อาจใช้เวลา 5-7 ปี หรือนานกว่านั้นจึงจะมีเห็ดให้เก็บไปกินได้

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ว่าที่เรือตรีศุลิเชษฐ์ ทองกล่ำ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง