องุ่นเป็นไม้ผลทางเลือกที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเป็นอาชีพ เพราะเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง สามารถทดแทนพืชที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพทางการตลาดเนื่องจากราคาและความต้องการของตลาดมีสูง และสามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การปลูกองุ่นในระบบเดิมจำเป็นต้องใช้แรงงานมากและไม่เหมาะสมกับเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากทรงต้น รูปแบบค้าง และวิธีการตัดแต่งยังยุ่งยาก ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติดูแลรักษาต้นองุ่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนารูปแบบการปลูกองุ่นใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับเกษตรกรผู้สูงอายุ ภายใต้การผลิตองุ่นแบบประณีต ได้คุณภาพสูง ปลอดภัย และมีต้นทุนการผลิตต่ำ
การปลูกองุ่นในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการจัดทรงต้นและสร้างกิ่งไม่เป็นระบบที่ชัดเจน ดูแลรักษายาก ระยะปลูกค่อนข้างถี่ (2x4 เมตร) และทรงต้นแน่นทึบ ทำให้ต้นองุ่นมีจำนวนกิ่งที่จะให้ผลผลิตน้อย มีกิ่งที่ไม่สมบูรณ์จำนวนมาก มีการสร้างตาดอกน้อย และให้ผลผลิตเพียง 5-10 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี นอกจากนี้ ส่งผลให้ต้นโทรม อายุการให้ผลผลิตสั้น และยังพบการระบาดของโรคและแมลงรุนแรงอีกด้วย (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 ต้นองุ่นที่มีระบบการจัดทรงต้นแบบเดิม
การตัดแต่งกิ่งองุ่นระบบเดิมเป็นการตัดแต่งกิ่งแก่ต่อเนื่อง ทำให้กิ่งอ่อนแอลงและยืดยาวออกไปทุกปี จึงเป็นเหตุผลทำให้ต้นองุ่นให้ผลผลิตต่ำมาก อายุการให้ผลผลิตสั้น และไม่สม่ำเสมอกัน นอกจากนี้ เกษตรกรหรือผู้ตัดแต่งกิ่งองุ่นจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการตัดแต่งมาก (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 การตัดแต่งกิ่งองุ่นระบบเดิม
ภาพที่ 3 ระบบการปลูกองุ่นระบบใหม่แบบโครงการหลวง
ภาพที่ 4 ระบบการปลูกองุ่นแบบใหม่ที่เหมาะกับเกษตรกรผู้สูงอายุ
สำหรับการตัดแต่งกิ่งองุ่นแบบโครงการหลวงคือ การตัดแต่งกิ่งแบบ 1 กิ่ง ตัดแต่ง 2 ครั้งต่อปี (ภาพที่ 5) โดยตัดแต่งครั้งที่ 1 แบบยาว (Cane pruning) ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงเก็บเกี่ยวในฤดูหนาวถึงฤดูแล้ง และตัดแต่งกิ่งเดิมเป็นครั้งที่ 2 โดยตัดแบบสั้น (Spur pruning) ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพื่อสร้างกิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และให้ผลผลิตนอกฤดู ระบบการตัดแต่งกิ่งแบบนี้ทำให้ต้นองุ่นให้ผลผลิตสูงมาก สม่ำเสมอ และยาวนาน เพราะมีระบบการสร้างกิ่งทดแทน ทำให้ต้นองุ่นมีความแข็งและสมบูรณ์อยู่เสมอ และสามารถควบคุมให้กิ่งอยู่บนพื้นที่ค้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากองค์ความรู้นี้มีการพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมสำหรับใช้ในต้นองุ่นทรงต้นเตี้ยแบบแนวรั้วและแบบตัว Y โดยในการตัดแต่งกิ่งครั้งที่ 1 แบบยาวมีการเพิ่มความยาวของการไว้กิ่ง และดัดโค้งกิ่งหลังตัดแต่ง (ภาพที่ 6) เพื่อเพิ่มปริมาณและความสม่ำเสมอของตาที่แตก ทำให้ผลผลิตต่อต้นเพิ่มมากขึ้นถึง 109 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง จากการตัดแต่งกิ่งแบบปกติที่ให้ผลผลิต 50 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง
ภาพที่ 5 การตัดแต่งองุ่นระบบใหม่แบบโครงการหลวง
ภาพที่ 6 การตัดแต่งองุ่นระบบใหม่ที่ตัดแบบยาวแล้วดัดโค้งกิ่งหลังตัดแต่ง
ตาราง สรุปเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างระบบการปลูกองุ่นแบบเดิม ระบบการปลูกองุ่นแบบโครงการหลวง และระบบการปลูกองุ่นแบบใหม่สำหรับเกษตรกรผู้สูงอายุ
ระบบการปลูกองุ่น | แบบเดิม | แบบโครงการหลวง | แบบใหม่สำหรับเกษตรกรผู้สูงอายุ |
---|---|---|---|
รูปแบบการปลูก | กลางแจ้ง | ในโรงเรือน | ในโรงเรือน |
รูปแบบค้าง | ค้างแบบผืน | ค้างแบบผืน | ค้างแนวตั้ง |
รูปแบบทรงต้น | ตัว T | ตัว T และตัว H | ตัว Y |
ระยะปลูก (เมตร) | 2-3x3.5-4.0 | 1.5-3.0x6.0 | 1.2x8.0-10.0 |
การจัดเถาผูกกิ่ง | ไม่เป็นระบบ | เป็นระบบระเบียบ | เป็นระบบระเบียบ |
การตัดแต่งกิ่ง | 2 ครั้ง/ปี | 2 ครั้ง/ปี สั้นสลับยาว | 2 ครั้ง/ปี สั้นสลับยาวแล้วดัดกิ่งโค้ง |
ความเชี่ยวชาญของเกษตรกรในการตัดแต่งกิ่ง | มาก | น้อย | น้อย |
ปริมาณผลผลิต (กก/ต้น/ปี) | 10-15 | 70-100 | 100-150 |
การระบาดของโรคและแมลง | มาก | ปานกลาง | น้อย |
การใช้สารเคมี | มาก | ลดลงมากกว่า 80% | ลดลงมากกว่า 80% และสะดวกในการพ่น |
ความเสียหายจากลมพายุ | มาก | มาก | น้อย |
ราคาต้นทุนโรงเรือนและค้าง*(บาท) | 50,000-70,000 | 150,000-170,000 | 110,000-130,000 |
หมายเหตุ: *โรงเรือนเหล็กขนาด 12x24 เมตร