การปลูกกัญชงภายใต้ระบบควบคุม

ปัจจุบันได้มีการประกาศกฎกระทรวงและการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ.2559 ซึ่งในกฎกระทรวงนี้ทำให้สามารถขออนุญาตปลูกเฮมพ์ (กัญชง)ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องในการปลูกกัญชงภายใต้ระบบควบคุมทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเพื่อใช้สอยในครัวเรือนของเกษตรกร
ผู้ได้รับอนุญาตต้องปลูกกัญชงในสถานที่ที่กำหนดไว้ในหนังสือสำคัญเท่านั้น ในการปลูกทุกครั้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์รับรองที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร และให้ใช้เมล็ดพันธุ์รับรองดังกล่าวในฤดูการเพาะปลูกเดียว ไม่อนุญาตให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่เหลือไว้ ต้องนำส่งคืนหรือทำลายภายใน 30 วันหลังจากที่รับเมล็ดพันธุ์
 
1
การขนส่งเมล็ดพันธุ์รับรองของกัญชงตามที่ได้รับอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตแจ้งกำหนดการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนการขนส่งเมล็ดพันธุ์รับรองของกัญชงตามที่ได้รับอนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเลขาธิการ
2
ผู้ได้รับอนุญาตเมื่อรับเมล็ดพันธุ์รับรองของกัญชงแล้วต้องมีการจัดทำบัญชีเมล็ดพันธุ์รับรองของกัญชง เมื่อปลูกแล้วเสร็จหากมีเมล็ดพันธุ์รับรองเหลือต้องส่งคืนเมล็ดพันธุ์รับรองหรือทำลายภายใน 30 วันหลังรับเมล็ดพันธุ์รับรอง
 
3
หนังสือแจ้งพิกัดการปลูกให้กับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยหลังจากจัดทำพิกัดแปลงปลูกกัญชง และขนาดพื้นที่ปลูก ซึ่งต้องดำเนินการก่อนการขออนุญาตฯ ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดทำหนังสือแจ้งพิกัดแปลงปลูกกัญชงดังกล่าวต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อให้ทางสถาบันสำรวจและติดตามพืชเสพติดเข้าติดตามตรวจสอบต่อไป
4
หนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอที่มีการขออนุญาตปลูกกัญชง พื้นที่ปลูก และการขนย้ายเมล็ดพันธุ์ โดยผู้ได้รับอนุญาตจัดทำหนังสือเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอที่มีการขออนุญาตผลิตกัญชง โดยระบุปริมาณ วันและเวลา ยานพาหนะ เส้นทางการขนส่ง และผู้ควบคุมการขนส่ง
 
5
การจัดทำป้ายแปลง ด้วยวัตถุถาวรมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ยาวไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และมีข้อความเป็นตัวอักษรไทย สูงไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร แสดงวัตถุประสงค์ของการผลิต เช่น การผลิตเพื่องานวิจัย /ใช้สอยในครัวเรือน/ใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม เมล็ดพันธุ์รับรองที่ใช้ แสดงเลขที่หนังสือสำคัญ ชื่อผู้รับอนุญาต และเวลาสิ้นสุดอนุญาตตามหนังสือสำคัญ โดยให้แสดงไว้ในที่เปิดเผย เห็นง่าย ณ สถานที่ที่ได้รับอนุญาต

6
การติดตามตรวจสอบ จากพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะทำงานระดับอำเภอ/จังหวัด เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ อย. โดยเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจสอบพิกัดแปลง ขนาดพื้นที่ ป้ายแปลงแสดงหมายเลขการอนุญาตผลิต และการปนของพืชเสพติดชนิดอื่นๆ

7
การจัดการตัวอย่างกัญชงเพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบิดอล (THC) การเก็บตัวอย่างใบจะเก็บก่อนการเก็บเกี่ยว 15 วัน สำหรับผลิตเส้นใยการเก็บตัวอย่างใบที่อายุประมาณ 85 วันหลังปลูก ส่วนการผลิตเมล็ดพันธุ์จะเก็บตัวอย่างใบที่ระยะออกดอก (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณสาร THC ด้วยชุดตรวจภาคสนาม (THC test kit) หรือในห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ทาง อย. กำหนด
 
8
เก็บเกี่ยวกัญชง ให้ผู้ได้รับอนุญาตเก็บเกี่ยวตามแผนการผลิต โดยแจ้งวันและเวลาเก็บเกี่ยวกัญชงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (คณะทำงานระดับอำเภอ) ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนการเก็บเกี่ยว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมการเก็บเกี่ยว

9
การติดตามหลังการเก็บเกี่ยว คณะทำงานระดับอำเภอ/จังหวัด เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ อย. ติดตามตรวจสอบหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อไม่ให้เกษตรกรเหลือกัญชงไว้เก็บเมล็ดพันธุ์

 
10
การทำลายแปลงเฮมพ์ ในกรณีที่ตรวจพบปริมาณสาร THC เกินกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ด้วยการตรวจด้วยชุดตรวจภาคสนาม ให้ส่งตัวอย่างดังกล่าวตรวจที่ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง หากผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่ามีปริมาณสารดังกล่าวเกินกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ให้ผู้ส่งตรวจแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการทำลาย ในกรณีที่ปริมาณสาร THC เกินกำหนดจากภาวะแปรปรวนของสภาพแวดล้อม การทำลายคือให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการ ริด/ตัด ทำลายใบ ช่อดอก เมล็ด และส่วนยอดของกัญชงที่ปลูก แล้วทิ้งไว้ให้แห้งเพื่อให้โดนความร้อนและปริมาณ THC สลายไป แล้วให้ขุดหลุมเพื่อฝังต่อไป โดยต้นสดกัญชงยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่หากกรณีที่ปริมาณสาร THC เกินกำหนดจากการปลูกพืชเสพติดชนิดอื่นปลอมปนให้ส่งดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป
11
การรายงานผลการดำเนินงาน ผู้ได้รับอนุญาตจัดทำรายงานผลการดำเนินงานแจ้งต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขทราบ หรือในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนการผลิตหรือการใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้ ให้แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเลขาธิการทราบตามแบบที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ปรากฏว่าไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ดำเนินการตามแผนการ
 
 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
รัตญา ยานะพันธุ์, สำนักวิจัย
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง