สืบสาน รักษา ต่อยอด ข้าวพื้นที่สูง

“สืบสาน รักษา ต่อยอด ข้าวพื้นที่สูง” ชนเผ่าปกาเกอญอ บ้านจันทร์ อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

“ข้าว” เป็นวิถีชีวิตในการดำรงชีพของชนเผ่าปกาเกอญอ เพราะมีความเชื่อว่า “ข้าว” เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีจิตวิญญาณ เมื่อถึงฤดูปลูกข้าวชนเผ่าปกาเกอญอจะประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ เริ่มตั้งแต่ก่อนปลูกข้าวจนถึงเก็บเกี่ยวซึ่งปัจจุบันพิธีกรรมมีความแตกต่างกันออกไปบ้างเล็กน้อยแล้วแต่ความเชื่อ ความเหมาะสมของสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละแหล่ง และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ ธัญญาหาร เช่นเดียวกับ ชนเผ่าปกาเกอญอ บ้านจันทร์ อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงมีความเชื่อในการ สืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญหาข้าวบนพื้นที่สูง ในชุมชนเริ่มตั้งแต่พิธีกรรมก่อนการปลูกข้าว ประกอบด้วย

1

พิธีมัดมือ

ช่วงเวลา:

ปลายเดือน พฤศจิกายน – ต้นเดือน ธันวาคม ของทุกปี

อุปกรณ์:

ตะกร้าพิธี ประกอบด้วย เหล้าต้ม ข้าวต้มมัดดอย “แมตอ” ข้าวปุก “เมโตพี่” ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องนุ่งห่มใช้สำหรับประกอบพิธี เสื้อ ผ้าซิ่น และผ้าโพกผม สายสิญจน์ และ “หน่อโดควะ” (อุปกรณ์สำหรับคนข้าว)

 

เมื่อกำหนดวันประกอบพิธีมัดมือแล้ว ทุกครัวเรือนต้องต้มเหล้าเพื่อใช้ประกอบพิธี (ระยะในการต้มเหล้าใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์) และในระหว่างที่ต้มเหล้าไม่อนุญาตให้คนในครอบครัวนอนค้างนอกบ้าน

ในกรณีที่มีคนเสียชีวิตในหมู่บ้านพิธีมัดมือต้องยกเลิกโดยถือว่าเป็น “วันเสีย” (ในความเชื่อของชนเผ่าปกาเกอญอไม่ว่าจะกระทำการพิธีกรรมใดๆต้องดูฤกษ์งามยามดีก่อนเสมอเพื่อความเป็นสิริมงคล)และจะกำหนดวันประกอบพิธีมัดมือใหม่ในอีก 1 เดือนข้างหน้า และหากมีผู้เสียชีวิตอีกพิธีมัดมือก็จะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะได้ “วันดี” และในกรณีที่พิธีมัดมือถูกยกเลิกเนื่องจากมีผู้เสียชีวิตในหมู่บ้าน เหล้าต้มที่เตรียมไว้สำหรับทำพิธีจะไม่สามารถนำมาใช้ในการประกอบพิธี

ขั้นตอน:

ช่วงเช้า:

ทุกครัวเรือนทำพิธีมัดมือเพื่อขอพรแก่ผู้เฒ่าผู้แก่และญาติผู้ใหญ่ที่ตนเองนับถือ ในระหว่างทำพิธี ผู้เฒ่าผู้แก่จะใช้ “หน่อโดควะ” เคาะเพื่อเรียกขวัญ

ภาพ “หน่อโดควะ”

ช่วงเย็น:

พิธี “แควะสิ” ผู้เฒ่าผู้แก่หรือหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ทำพิธีและต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ผู้ทำพิธีรินเหล้าลงบนพื้นให้แก่แม่ธรณีเจ้าที่เจ้าทางเพื่อขอพรให้สุขภาพแข็งแรง พืชผลเจริญงอกงาม เป็นต้น จากนั้นผู้ทำพิธีจะรินเหล้าให้แก่ผู้มาร่วมพิธี 1 รอบ เมื่อรินเหล้ารอบที่ 2 จึงอนุญาตให้ผู้ทำพิธีดื่มเหล้าได้

 

* ช่วงหว่านกล้า-ช่วงเก็บเกี่ยว หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ทำพิธีไหว้เจ้าที่เจ้าทางในแปลงนาเพื่อขอพรให้ข้าวเจริญงอกงาม ผลผลิตอุดมสมบูรณ์มีกินตลอดทั้งปี

2

พิธีกรรมกินข้าวใหม่

“มาเตอลอเก๊อะ” แปลว่า มาเก็บช้อนตก

ช่วงเวลาของพิธีกรรม:

ปลายเดือน พฤศจิกายน – ต้นเดือน ธันวาคม ของทุกปี

อุปกรณ์:

หิน 3 เส้า ข้าวใหม่ เหล้าต้ม (จากข้าวใหม่ “พ่อคลีดะ”) ขันโตก ใบกิโกล่า ของป่า เช่น ขิง เผือก ฝัก มัน กระรอก ปูนา หมูป่า (ในปัจจุบัน ใช้หมู และไก่ แทนของป่า)

 

ขั้นตอน:

ช่วงเช้า:

หุงข้าวใหม่ พร้อมด้วยอาหารคาวหวาน ทำบุญถวายทานพระพุทธเจ้า เทวดา เจ้าป่าเจ้าเขาเพื่อขอพรให้ครอบครัวอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตข้าวพอกินตลอดทั้งปี

 

 
ภาพ : “วัด” สถานที่ประกอบพิธีในช่วงเช้า เพื่อทำบุญถวายอาหารคาวหวานและข้าวใหม่

ช่วงบ่าย:

หุงข้าวใหม่ พร้อมด้วยอาหารคาวหวาน เหล้าต้ม จัดวางใส่ขันโตกให้สวยงามตกแต่งด้วยใบกิโกล่า เพื่อถวายหิน 3 เส้า ในห้องครัว หลังจากถวายให้แก่หิน 3 เส้าแล้วจึงให้บิดามารดาหรือหัวหน้าครอบครัวรับประทานก่อน หลังจากนั้นจะบรรดาลูกหลาน ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านมาร่วมพิธีกินข้าวใหม่

ภาพ : “ห้องครัว” สถานที่ประกอบพิธีในช่วงบ่าย เพื่อถวายอาหารคาวหวาน เหล้าต้ม ให้แก่หิน 3 เส้า
 

ภาพ : หิน 3 เส้า
3

พิธี “เซะพอโค่”

ขั้นตอน:

ทำพิธีในหลองข้าว (ยุ้งฉาง) หัวหน้าครอบครัวประกอบพิธี “แควะสิ” และรินเหล้าลงบนกองข้าวเล็กน้อย เพื่อขอพรให้ข้าวพอกินตลอดทั้งปี โดยผู้เข้าร่วมพิธีทั้งชายหญิงต้องนำดอกไม้มาทัดหู เมื่อเสร็จพิธีจึงรับประทานอาหารร่วมกัน

อุปกรณ์:

เหล้าต้ม ชิ้นส่วนไก่สดไก่ตัวผู้ และไก่ตัวเมีย เช่น เครื่องในไก่ เศษเล็บไก่ เป็นต้น

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.จันทร์จิรา  รุ่งเจริญ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง