พื้นที่สูงหลายแห่งในประเทศไทยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวไทยภูเขา โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ชนิดพืชที่นิยมปลูกมากคือ ผักตระกูลกะหล่ำ มะเขือ พริก ข้าวโพด ไม้ดอก ไม้ผลเมืองหนาว กาแฟ ซึ่งบางชนิดมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีปริมาณมาก ผลคือ เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีภาระหนี้สิน ระบบเกษตรธรรมชาติ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเขตกรรม การใช้น้ำหมักสมุนไพร ปุ๋ยอินทรีย์ ลดน้อยลง ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการปนเปื้อนของสารพิษลงแหล่งต้นน้ำและการสะสมสารพิษในดินที่ส่งผลต่อเนื่องถึงความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชุมชนปลายน้ำ รวมทั้งระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงกันหลายมิติ ในขณะเดียวกันการได้รับสารพิษอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม การวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งานเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ควบคู่กับการรณรงค์ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ โดยสารชีวภาพเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย แบ่งเป็น กลุ่มป้องกันกำจัดศัตรูพืชและกลุ่มส่งเสริมการเจริญเติบโต สามารถใช้งานได้ในลักษณะเป็นสารทดแทน และสารใช้ร่วมกัน/ใช้สลับเพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการสะสมของสารพิษในผู้ผลิต ผลผลิต และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางสนับสนุนแผนงานวิจัยการผลิตอาหารปลอดภัยและการผลิตเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสัมพันธ์กับ “การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ” รวมทั้งแนวทาง “การป้องกัน การลด การบำบัดมลพิษสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม”
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1 เพื่อศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดพืชและจุลินทรีย์ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือเสริมสร้างการเจริญเติบโตให้กับพืช
2 เพื่อทดสอบและประเมินประสิทธิภาพการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพร่วมกับเกษตรกรบนพื้นที่สูง
พื้นที่เป้าหมาย
1. โครงการขยายผลโครงการหลวงสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
2. โครงการขยายผลโครงการหลวงป่ากล้วย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
3. โครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
ผลงานวิจัยของโครงการในระยะที่ผ่านมาได้คัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ พืชสมุนไพร และพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูงที่มีคุณสมบัติในการควบคุมศัตรูพืชชนิดต่างๆ แบบเฉพาะเจาะจง การปรับปรุงคุณสมบัติดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช (ลดความเป็นกรด ลดความเป็นพิษของโลหะหนัก) การส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับต้นพืช รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานและความทนทานต่อผลกระทบจากปัจจัยภายนอกในห้องปฏิบัติการและแปลงทดลอง ตลอดจนพัฒนารูปแบบและวิธีการใช้ที่เหมาะสมจนได้เป็นชีวภัณฑ์ สารสกัดสมุนไพร และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับนำไปขยายผลสู่เกษตรกร จำนวน 15 ชนิด ได้แก่ สารป้องกันกำจัดโรคพืช 4 ชนิด สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช 8 ชนิด สารส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช 2 ชนิด และอุปกรณ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช 1 ชนิด รวมถึงวิจัยกระบวนการเพิ่มปริมาณและเก็บรักษาเชื้อจุลินทรีย์สำหรับผลิตเป็นชีวภัณฑ์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การวิจัยและพัฒนาครบวงจรจึงต้องดำเนินงานในลักษณะการต่อยอดงานเดิม การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาใหม่ให้ครอบคลุมพืชหลายชนิด และทดสอบการใช้สารชีวภาพ/อุปกรณ์จากผลการวิจัยร่วมกับเกษตรกร ตลอดจนมีการเผยแพร่องค์ความรู้สู่เกษตรกรในวงกว้างต่อไป
ชีวภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สำหรับการปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพ
ที่มา: วารสาร สวพส. ฉบับที่ 4