ลดรอบการปลูกข้าวไร่ด้วยระบบการปลูกข้าวหมุนเวียนพื้นที่กับพืชตระกูลถั่ว

ลดรอบการปลูกข้าวไร่ด้วยระบบการปลูกข้าวหมุนเวียนพื้นที่กับพืชตระกูลถั่ว

 

 

             สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ได้แบ่งนิเวศน์การปลูกข้าว (Rice ecosystem) ในแถบเอเชีย ออกเป็น 4 ระบบ คือ 1. การปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำชลประทาน (Irrigated rice ecosystem) 2. การปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝน (Rainfed rice ecosystem) 3. ข้าวนาน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำ (Deep water and floating rice ecosystem) และ 4. ข้าวไร่ (Upland rice ecosystem)

              สำหรับการผลิตข้าวนาบนพื้นที่สูงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ ระบบการปลูกข้าวไร่ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่บริเวณไหล่เขา มีความลาดชัน 5 – 60 องศา อาศัยความชื้นจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว (สิปปวิชญ์ และคณะ, 2563) สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI, 1990) ให้ความหมายของข้าวไร่ว่าหมายถึง ข้าวที่ปลูกในสภาพไม่มีน้ำขัง (Dryland condition) หรือสภาพไร่ ไม่มีการให้น้ำ (Without irrigation) ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวไร่ทั้งหมด 207,559 ไร่ มีผลผลิตรวมเฉลี่ยปีละ 72,618 ตัน (ร่วมจิตร และคณะ, 2560) และระบบที่ 2 คือการปลูกข้าวนาบนพื้นที่สูง ทำนาแบบขั้นบันไดตามไหล่เขาโดยจะมีการทำคันนาเก็บกักน้ำ

               ระบบการทำไร่หมุนเวียนของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) การทำไร่หมุนเวียนนั้น จะเริ่มตัดถาง (ฟันไร่) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยตัดต้นไม้สูงจากพื้นดินมากกว่า 1 เมตร เนื่องจากจะทำให้แตกยอดออกมาใหม่หลังจากที่มีการเผาไร่ จากนั้นจึงทำการเผาเพื่อปลูกข้าวไร่ การทำไร่หมุนเวียนนั้นพื้นที่ที่ปลูกเสร็จแล้ว (ไร่เหล่า) จะถูกฟื้นฟูสภาพเร็วกว่ารูปแบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเกษตรกรจะมีรอบการทำไร่หมุนเวียนระหว่าง 5- 7 ปี เพื่อให้ป่าไม้มีการฟื้นฟูกลับมา ซึ่งจากการรายงานของ Yimyam et al. (2003) พบว่าระบบการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนสามารถพื้นฟูป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มธาตุอาหารในดินในพื้นที่หมุนเวียนได้ด้วยพืชพื้นถิ่นที่ชื่อปะดะ (พืชที่ขึ้นในช่วงแรกหลังจากตัดฟัน)

             ปัจจุบันการทำข้าวไร่หมุนเวียนยังมีการดำเนินการอยู่แต่ลดรอบเหลือ 1 – 3 ปี หรือบางพื้นที่ไม่มีการหมุนเวียนพื้นที่โดยจะทำการปลูกซ้ำที่เดิม โดยสาเหตุเนื่องมาจากประชากรมีปริมาณเพิ่มขึ้นมีการใช้พื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลายชนิดจากการส่งเสริมของทางภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบกับกรมป่าไม้มีการจัดทำขอบเขตพื้นที่ป่าไม้อย่างชัดเจน ทำให้การหมุนเวียนพื้นที่ในรอบสั้นลง บางพื้นที่ไม่มีการหมุนเวียนพื้นที่เลยส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและผลผลิตข้าวลดลง ที่ผ่านมาเกษตรกรแก้ไขปัญหาโดยการใส่ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต รวมถึงในระยะยาวทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์จากการชะล้างหน้าดิน และในปัจจุบันบริเวณภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในอากาศ (PM 2.5 ไมครอน) โดยมีสาเหตุมาจากการเผาส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

 

 

              สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้มีดำเนินงานพัฒนาเชิงพื้นที่ และวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อปรับระบบการทำการเกษตรให้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และการตลาด โดยการลดพื้นที่การเกษตรให้น้อยลง แต่เพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อหน่วยมากขึ้น จากการนำองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแต่ละสาขามาใช้ประโยชน์ภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นโครงการศึกษาระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมบนพื้นที่สูงจึงมีการศึกษาระบบการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนกับพืชตระกูลถั่วโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและลดวงรอบการปลูกข้าวไร่หมุนเวียน พบว่าความสูงของข้าวไร่ที่ปลูกในระบบปลูกซ้ำที่เดิมและใส่ปุ๋ยมีความสูงถึงคอรวงน้อยที่สุด นอกจากนี้ระบบการปลูกข้าวสลับพื้นที่แปลงปลูกถั่วพบว่าข้าวมีจำนวนรวงต่อกอมากที่สุด โดยมากกว่าวิธีการอื่นๆ 28 – 52 เปอร์เซ็นต์ และยังให้ผลผลิตมากที่สุด เท่ากับ 658.9 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่วิธีการปลูกซ้ำที่เดิมและใส่ปุ๋ย วิธีการปลูกข้าวเหลื่อมด้วยถั่ว และวิธีการปลูกหมุนเวียน 7 ปี ได้ผลผลิตเท่ากับ 561.0, 492.9 และ 453.3 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

 

ตารางที่ 1 ความสูง (ซม.) จำนวนรวง/กอ และ ผลผลิตข้าว (กก/ไร่) จากการทดลองระบบการปลูกข้าวที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

วิธีการ

ความสูง (ซม.)

จำนวนรวง/กอ

ผลผลิตข้าว (กก/ไร่)

1. หมุนเวียน 7 ปี

125.2 a

14.8 b

453.3 b

2. ข้าวสลับพื้นที่แปลงปลูกถั่ว

129.8 a

19.0 a

658.9 a

3. ข้าวเหลื่อมด้วยถั่ว

123.7 a

13.5 bc

492.9 b

4. ปลูกข้าวซ้ำที่เดิมและใส่ปุ๋ย

111.9 b

12.5 c

561.0 ab

ค่าเฉลี่ย

122.6

14.9

541.5

f- test

**

**

*

CV (%)

3.43

8.33

12.9

LSD .05

6.7

1.9

111.4

 

            จากผลการทดลองจะเห็นได้ว่าการปลูกข้าวสลับพื้นที่กับแปลงปลูกถั่วทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นโดยการใช้พื้นที่สลับกันและในขณะเดียวกันยังมีรายได้เสริมจากพืชตระกูลถั่วที่ปลูกอีกด้วย นอกจากนี้วิธีการการปลูกข้าวไร่ซ้ำที่เดิมและมีการใส่ปุ๋ยนั้นให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน แต่เกษตรกรจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งพื้นที่ปลูกมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียธาตุอาหารจากการชะล้างหน้าดินเนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชัน ดังนั้นระบบการปลูกข้าวไร่สลับกับแปลงถั่วสามารถลดรอบการปลูกได้จาก 7 ปี เหลือ 2 ปี และสามารถสร้างรายได้เสริมจากถั่วที่ปลูกได้อีกด้วย ทำให้เกิดระบบการผลิตข้าวไร่ที่ยั่งยืนและเกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มค่ามากที่สุดภายใต้การจัดระบบเกษตร

 

 

-----------------------------------------

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
อดิเรก  ปัญญาลือ เจษฎา  จงใจดี และธัญพิสิฐ์  ใจแข็ง สถาบันวิจัยและพัฒนนาพื้นที่สูง

 

-----------------------------------------

 

เอกสารอ้างอิง

ร่วมจิตร  นกเขา ถิรายุทธ์  วิจิตรภาพ และนาราอร  สว่างวงศ์. 2560. คู่มือการปลูกและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่เพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน. สานักพิมพ์ชุมพรการพิมพ์ 2. 123 หน้า

สิปปวิชญ์  ปัญญาตุ้ย, สุมาลี  มีปัญญา, ศิลาวัน  จันทรบุตร, จารุณี  อันเดชา, อาทิตยา  ยอดใจ, ศิริลักษณ์  ใจบุญทา, นงนุช  ประดิษฐ์, ผกากานต์  ทองสมบูรณ์, สุทธกานต์  ใจกาวิน, พิชนันท์  กังแฮ, และวิสุทธิ์  กีบทอง. 2563. ความอุดมสมบูรณ์ของดินบนพื้นที่สูงสำหรับการปลูกข้าวของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน.เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ “ข้าวและธัญพืชเมืองหนาว” กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง ครั้งที่ 12 ประจำปี 2563 ณ โรงแรมสวนบัวรีสอร์ท อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. หน้า 119 – 132.

IRRI. 1990. Rice Production, Area and Yield. World Rice Statistics 1990. IRRI. Philippines. 1-7.

Narit Yimyam, Kanok Rerkasem and Benjavan Rerkasem. 2003. Fallow enrichment with pada (Macaranga denticulata (Bl.) Muell. Arg.) trees in rotational shifting cultivation in northern Thailand. Agroforestry Systems 57(2):79-86 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง