โครงการวิจัยและพัฒนาหวายเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน

 

โครงการย่อย  โครงการวิจัยและพัฒนาหวายเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน

หวายเป็นพืชป่าพวกปาล์มเลื้อยมีหนาม พบมากในป่าเขตร้อน มีชนิดและพันธุ์หลากหลาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายของพันธุกรรมหวายมากที่สุดในโลก ในประเทศไทยพบว่ามีประมาณ 60 ชนิด 6 สกุล คิดเป็นครึ่งหนึ่งของสกุลหวายที่มีอยู่ในโลก หวายเป็นพืชท้องถิ่นที่ชุมชนบนพื้นที่สูงยังคงมีการใช้ประโยชน์ในแง่การบริโภคและใช้สอย นอกจากการใช้ประโยชน์ภายในครัวเรือนแล้ว หวายยังเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยหวายตัดหน่อเพื่อการบริโภคสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ หวายตัดหน่อมีโรคและศัตรูพืชทำลายน้อย ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี อย่างไรก็ตามคุณภาพพันธุ์หวายในชุมชนยังไม่ดีพอ เนื่องจากมีหน่อเล็ก มีพันธุ์ปนกระจายอยู่ในแปลงปลูก การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม่หลากหลาย ส่วนหวายใช้เส้นนั้นสามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เส้นหวายใช้เป็นวัตถุดิบในการจักสาน ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ อย่างไรก็ตามหวายใช้เส้นมีอายุการเก็บเกี่ยวนาน (7-10 ปีขึ้นไป) และการเก็บเกี่ยวลำบาก พื้นที่ปลูกมีน้อย

เนื่องจากหวายเป็นพืชที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า พื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกขยายพันธุ์มีจำนวนลดลง ทำให้วัตถุดิบหวายที่ใช้ในการแปรรูปขาดแคลน การใช้ประโยชน์จากหวายในด้านอุตสาหกรรมเครื่องเรือนเครื่องใช้มีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง ในแต่ละปีรายได้จากการส่งออกไปตลาดต่างประเทศมีมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบหวายเป็นจำนวนมหาศาล เพราะวัตถุดิบหวายในประเทศขาดแคลน นอกจากนี้คุณภาพของหวายที่นำเข้ายังไม่ดีเท่าที่ควร

 

เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากหวายมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้มีการวิจัยและพัฒนาหวายเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน เน้นการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพหวาย มีการแปรรูปหวายให้มีคุณภาพ มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า โดยมีขั้นตอนการผลิตและแปรรูปที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรมีการศึกษาคัดเลือกพันธุ์ที่มีความเหมาะสม ศึกษาวิธีการเขตกรรมการปลูกหวายเพื่อเพิ่มผลผลิต และมีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปหวายที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มคุณภาพเส้นหวาย

วัตถุประสงค์
1. เพื่อรวบรวม คัดเลือก และทดสอบพันธุ์หวายที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพผลผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่
2. เพื่อศึกษาและพัฒนาเขตกรรมหวายเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิต
3. เพื่อศึกษาและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปหวาย

พื้นที่เป้าหมาย
1. โครงการขยายผลโครงการหลวงปางแดงใน ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
2. โครงการขยายผลโครงการหลวงโป่งคำ ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน
3. โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่จริม ต.แม่จริม อ.แม่จริม จ.น่าน

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง