หากเดินทางมาถึงบ้านแม่ระเมิง หมู่ 8 ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก จะพบกับสถานที่แห่งหนึ่งที่มีผู้คนจากบ้านแม่ระเมิงและชุมชนใกล้เคียง มาซื้อปัจจัยการผลิตและจำหน่ายผลผลิต รวมถึงมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งสถานที่นี้เปรียบเสมือนศูนย์กลางในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน นั่นก็คือสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง จำกัด
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2557 ประชากรในตำบลแม่สอง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวโพด ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ จำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ แต่ประสบปัญหาเรื่องการถูกเอาเปรียบเรื่องน้ำหนักและราคารับซื้อผลผลิต เนื่องจากไม่มีที่เก็บรักษาผลผลิตประกอบกับความต้องการรายได้เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนทำให้ต้องจำหน่ายผลผลิตให้หมดตามฤดูกาล นอกจากนี้ชาวบ้านยังประสบปัญหาการขาดความรู้ด้านการผลิตที่ถูกต้อง ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณน้อย คุณภาพไม่ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตสูงจากค่าขนส่งปัจจัยการผลิตเนื่องจากการคมนาคมขนส่งมีความยากลำบาก
จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวและบริบทของพื้นที่ ทำให้ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำของชุมชนบ้านแม่ระเมิง ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นและเห็นควรให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรกรของชุมชนเพื่อมาช่วยบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดแก่คนในชุมชน โดยเริ่มแรกตั้งเป็นกลุ่มเตรียมสหกรณ์และยึดหลักการทำงานแบบสหกรณ์ในการดำเนินงาน ต่อมาในปีพ.ศ.2559 ได้จดทะเบียนเป็น “สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง จำกัด” โดยมีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 45 คน และมีทุนเรือนหุ้นจำนวน 45,000 บาท
ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีการบริหารและขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกซึ่งเป็นการทำงานด้วยจิตอาสาและไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆทั้งหมด อาทิเช่น การวางแผนการผลิตและการตลาด จัดหาปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิก ควบคุมการผลิตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย(GAP) ติดตามและให้คำแนะนำในแปลง การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในผลผลิต การคัดบรรจุ การขนส่งผลผลิตไปสู่ผู้ซื้อ ตลอดจนการติดต่อประสานกับผู้ซื้อเพื่อติดตามการคืนเงิน โดยได้รับคำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการและการดำเนินงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตากและสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ตาก
การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ประกอบด้วย
1.จัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายให้กับสมาชิก ตามความต้องการของสมาชิก โดยจะสำรวจความต้องการของสมาชิกแล้วจัดหามาจำหน่ายที่สหกรณ์หรือบริการส่งให้สมาชิกถึงบ้าน
2.รวบรวมผลผลิตของสมาชิกไปจำหน่าย โดยรับซื้อผลผลิตของสมาชิกในราคาที่เป็นธรรม
3.รับฝากเงินออมทรัพย์ โดยได้ตั้งธนาคารชุมชน เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการฝากและถอนเงินของสมาชิก โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่รับฝากเงินออมทรัพย์และให้ดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับธนาคารพาณิชย์
สหกรณ์ฯ สามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกและคนในชุมชนโดยมีการรับซื้อผลผลิตและพืชทางเลือกใหม่ที่สมาชิกและเกษตรกรในชุมชนปลูก เช่น เสาวรส ฟักทองญี่ปุ่น และพริกหวาน โดยรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2562 เป็นมูลค่า 9,694,359 บาท มีการจัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายมูลค่า 5,542,589 บาท และรับฝากเงินออมทรัพย์ จำนวน 127,117 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 99 ครัวเรือนจาก 22 กลุ่มบ้านในตำบลแม่สองและแม่วะหลวง ทุนเรือนหุ้นจำนวน 150,000 บาท ทุนดำเนินงานของสหกรณ์ทั้งสิ้นจำนวน 1,100,801 บาท
การดำเนินงานภายใต้การบริหารของคณะกรรมการสหกรณ์ นับได้ว่ามีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ช่วยแก้ไขความเดือดร้อนให้กับคนในชุมชนทำให้รายได้เพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลางที่เอาเปรียบเรื่องราคารับซื้อผลผลิตเนื่องจากสหกรณ์ฯเป็นผู้รวบรวมผลผลิตทั้งหมดในพื้นที่ จึงช่วยให้สมาชิกมีอำนาจในการต่อรองราคาผลผลิตให้ได้ราคาที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันผลผลิตของสหกรณ์ฯ ยังเป็นผลผลิตที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ซื้อเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภคเพราะสหกรณ์ฯ มีระบบการควบคุมการผลิตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัยและผ่านกระบวนการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างจากห้องปฏิบัติการของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สองทุกครั้งก่อนนำไปจำหน่าย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถแก้ปัญหาด้านการตลาดได้เป็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้สหกรณ์ฯยังมีส่วนในการช่วยลดต้นทุนการผลิตของสมาชิก เพราะสหกรณ์ฯเป็นผู้จัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่าย ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยลดต้นทุนแล้วยังเป็นการช่วยให้สมาชิกใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้อง นอกจากนี้สหกรณ์ยังให้ความสำคัญและส่งเสริมการออมของสมาชิกและคนในชุมชน เพื่อให้สมาชิกและคนในชุมชนเห็นประโยชน์และคุณค่าของการออมทรัพย์เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนในชุมชนให้มีการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นับได้ว่าสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง จำกัด เป็นสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการด้านการผลิตและตลาดด้วยตนเองและเป็นองค์กรของชุมชน...ที่ช่วยเหลือชุมชน...ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ต่อไป