การจัดการปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวนาบนพื้นที่สูง

การจัดการปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวนาบนพื้นที่สูง

 

                               พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงในภาคเหนือ มีระดับความสูงตั้งแต่ 500-มากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีชุมชนที่ทำนาเป็นหลักหลากหลายชุมชน ซึ่งมีทั้งชุมชนที่เป็นคนไทยพื้นเมือง ชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ และชนเผ่าลั๊วะ เป็นต้น ข้าวนาเป็นพืชอาหารที่สำคัญของชุมชนบนพื้นที่สูง โดยเกษตรกรจะปลูกข้าวไว้สำหรับบริโภค เป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของครัวเรือน พันธุ์ข้าวที่ปลูกบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่คือพันธุ์ท้องถิ่นหรือพันธุ์พื้นเมือง (Local variety) โดยปลูกข้าวปีละครั้ง อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก (ฤดูนาปี) พื้นที่ปลูกข้าวนาส่วนใหญ่เป็นนาขั้นบันไดขนาดเล็กระหว่างหุบเขา ทำให้พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวมีจำกัด ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ จากการสำรวจพบว่านอกจากปัญหาโรคและแมลงแล้วยังมีปัญหาเรื่องดินเสื่อมโทรม และเมล็ดข้าวลีบ บางชุมชนต้องซื้อข้าวมาบริโภค เกษตรกรจึงหาทางแก้ปัญหาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการใส่ปุ๋ย โดยเกษตรกรไม่รู้เลยว่าปุ๋ยที่ซื้อมาใส่นั้น เหมาะสมกับพื้นที่นาของตัวเองหรือไม่ ทำให้การใช้ปุ๋ยไม่เกิดประสิทธิภาพและเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น จากการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ปลูกข้าวนาในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 17 แห่ง ไปวิเคราะห์สมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารในดิน พบว่าดินที่ปลูกข้าวนาบนส่วนใหญ่เป็นกรดรุนแรงมาก–กรดจัด ในขณะที่(<3.5 - 5.5) มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง (>2.5 %) มีปริมาณโพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมสูง ในขณะที่มีปริมาณฟอสฟอรัส ทองแดง สังกะสีและโบรอนต่ำ ซึ่งการขาดธาตุอาหารดังกล่าวมีผลต่อการเจริญเติบโต และการติดเมล็ดของข้าวซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าวเมล็ดลีบ

 

 

          จากการทดสอบการจัดการปุ๋ยข้าวนาแบบชุมชนมีส่วนร่วม (community participatory research) ในแปลงนาของเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 4 แห่ง ได้แก่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ จ.น่าน โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน แม่มะลอ และผาแตก จ.เชียงใหม่ การจัดการปุ๋ยข้าวนาสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้

  •          1. การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ โดยใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ใส่วันดำนา โดยใส่หินฟอสเฟตและโดโลไมท์ อัตรา 25 กก./ไร่ และครั้งที่ 2 ใส่ระยะตั้งท้อง โดยใส่ปุ๋ยผสม (ขี้วัว 46-0-0 สังกะสี  ทองแดง และโบรอน)  โดยชนิดปุ๋ยและปริมาณการใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับธาตุอาหารที่ขาด จากการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก และบ่อเกลือ มีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
  •          2. การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยแจ็ค) อัตรา 200 กก./ไร่ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝนและแม่มะลอ มีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

 

ซึ่งเกษตรกรสามารถนำวิธีการใส่ปุ๋ยข้าวนาไปปรับใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวนาในพื้นที่ของตัวเองได้ โดยทั้งนี้เกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินในแปลงนาของตนเองไปส่งวิเคราะห์สมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารในดิน เพื่อเป็นแนวทางในการใส่ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

 

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
จุไรรัตน์ ฝอยทอง และดารากร อัคฮาดศรี
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง