ปลูกอะโวคาโดอย่างไรให้รอด
อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีใบเขียวตลอดปี ทำให้ปลูกเป็นป่าได้โดยเฉพาะบนพื้นที่สูง และปลูกได้ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่สูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล (MSL) ซึ่งอะโวคาโดมีหลากหลายพันธุ์ที่ให้ผลที่มีคุณภาพดี จึงควรเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น พันธุ์ Peterson, Ruehle, Buccaneer, ปากช่อง 3-3 สามารถปลูกได้ในพื้นที่ราบ (ต่ำกว่า 250 MSL) สำหรับพันธุ์ Buccaneer, Booth 7, Booth 8, Pinkerton, Hall และ Hass เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรมักพบปัญหาเรื่องต้นอะโวคาโดที่มักจะตายในช่วงปีแรกหลังปลูก ซึ่งมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น ความสมบูรณ์ของต้น โรคที่ติดมากับเมล็ดที่นำมาเพาะ ช่วงที่เวลาปลูก การดูแลต้นหลังปลูก ดังนั้น การจะปลูกต้นอะโวคาโดให้รอด ต้องเริ่มจาก......
1 ต้นกล้า
ต้องเตรียมต้นกล้าให้พร้อม มีความสมบูรณ์ แข็งแรง หากเป็นต้นกล้าที่เตรียมเองต้องเลือกพันธุ์ที่จะใช้เป็นต้นตอ เช่น พันธุ์ Booth 7 ที่มีเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดสูง (98.59%) และต้นเจริญเติบโตดี หรืออาจเลือกใช้พันธุ์ที่ทนต่อเชื้อไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.) ที่เป็นเชื้อสาเหตุของโรครากเน่าของอะโวคาโด เช่น พันธุ์ Reed, Topa-Topa, Duke 7, Dusa หรือใช้พันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีระบบรากที่แข็งแรง ก็สามารถนำมาใช้เป็นต้นตอได้ เมล็ดที่นำมาเพาะควรมาจากผลที่แก่และเก็บจากบนต้น ไม่ควรใช้เมล็ดที่หล่นจากต้น จากนั้นเปลี่ยนพันธุ์เป็นพันธุ์ดีตามที่ต้องการ แต่หากซื้อต้นกล้าจากแหล่งขายทั่วไปต้องซื้อจากแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ ถูกต้องตามพันธุ์ ต้นแข็งแรง และหากต้นกล้าอยู่ในถุงเพาะเลี้ยงขนาดเล็กนาน ควรย้ายกล้าลงในถุงขนาดใหญ่ ซึ่งการปลูกด้วยต้นกล้าอายุ 1-2 ปี ต้นมีโอกาสรอดในแปลงสูงเนื่องจากมีระบบรากที่เจริญดีและรอยต่อที่เปลี่ยนพันธุ์ประสานกันดีแล้ว ทำให้ต้นแข็งแรงและพร้อมปลูกในแปลง
2 ก่อนปลูก
อะโวคาโดเป็นพืชที่ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบสภาพพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือชื้นแฉะ เนื่องจากระบบรากอ่อนแอต่อเชื้อไฟทอปธอรา ดังนั้น พื้นที่ปลูกต้องเป็นที่โล่ง แดดดี ไม่อยู่ใต้ร่มไม้ หรือเป็นที่ต่ำน้ำท่วมขัง หากเป็นพื้นที่ราบควรปลูกแบบยกแปลง ควรเตรียมหลุมปลูกขนาด 80x80x80 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก) เตรียมวัสดุผสมโดยใช้ดินผสมปุ๋ยคอกและวัสดุอื่นๆ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ แกลบดำ คลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตราส่วนดิน:ปุ๋ยคอก:วัสดุอื่นๆ 1:1:1 และถ้าดินมีสภาพเป็นกรด ควรใส่โดโลไมท์ผสมเข้าไปด้วย สำหรับพื้นที่เป็นเนินหรือบนดอยพื้นที่สูง เมื่อเตรียมหลุมปลูกแล้ว ให้เตรียมวัสดุปลูกตามอัตราส่วนเพื่อเป็นคลังอาหารของต้นอะโวคาโด พูนวัสดุผสมให้มีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตรจากระดับพื้นดิน บนหลุมปลูกที่เตรียมไว้
3 ปลูก
ปลูกต้นอะโวคาโดบนเนินดินผสมนั้นโดยให้โคนต้นอยู่ระดับดิน ไม่ลึกจนดินฝังโคนต้นหรือรากของต้นกล้าลอย และให้รอยต่อระหว่างต้นตอและต้นพันธุ์อยู่เหนือระดับดิน กลบดินรอบโคนต้นให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม คลุมบริเวณโคนต้นด้วยวัสดุ เช่น ฟาง แกลบ เศษหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นของดินและป้องกันวัชพืช ควรค้ำต้นโดยใช้ไม้ปักค้ำเพื่อพยุงต้นกล้าแต่ให้ปักเฉียง 45 องศา เนื่องจากหากปักตรงชิดลำต้น ปลายไม้อาจบาดราก ให้รากเป็นแผลจะเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ลำต้น และเมื่อถึงฤดูแล้งปลวกจะมากินไม้ค้ำและรากต้นอะโวคาโดที่อยู่ติดกันได้
ช่วงปลูก สามารถปลูกได้ตลอดปีหากสามารถให้น้ำได้ แต่หากเป็นพื้นที่สูงซึ่งไม่มีน้ำควรปลูกช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะมีน้ำสำหรับต้นที่ปลูกใหม่ แต่ไม่ควรปลูกกลางฤดูฝนเนื่องจากฝนตกชุก น้ำอาจท่วมขังต้นอะโวคาโดที่ปลูกใหม่ นอกจากนี้ ต้นหญ้า/วัชพืชในแปลงมักโตเร็วและขึ้นปกคลุมต้นอะโวคาโดทำให้ต้นโตช้าหรือตายได้ หรือปลูกช่วงปลายฝนต้นหนาวซึ่งดินยังมีความชื้นและปริมาณฝนไม่มากเหมือนเช่นฤดูฝน จะทำให้ต้นสามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้น
4 หลังปลูก
ต้องพรางแสงให้ต้นอะโวคาโดตั้งแต่หลังปลูกนาน 1 เดือน และควรให้น้ำสม่ำเสมอ ให้พอชื้นแต่ไม่แฉะ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตและมีรากแผ่กระจายได้เร็ว นอกจากนี้ ควรกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นโดยใช้มีดตัด ห้ามถากหรือถางวัชพืชบริเวณโคนต้นโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้รากต้นอะโวคาโดฉีกขาด เป็นแผล ให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายต้นได้
การปลูกอะโวคาโดนั้นไม่ยาก แต่มีรายละเอียดที่ต้องระวังโดยเฉพาะระบบรากของอะโวกาโด หากผ่านในช่วง 1-2 ปีแรกหลังปลูกไปได้ อะโวคาโดก็สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีได้