ระบบเกษตรแบบประณีตปลอดภัย ทำน้อยได้มาก

ระบบเกษตรแบบประณีตปลอดภัย ทำน้อยได้มาก

 

     

            เป้าหมายหลักในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ได้มุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้ที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนมีอาชีพและรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยยึดความเหมาะสมตามแผนการใช้ที่ดิน และเกษตรกรได้ผลตอบแทนที่ดีจากการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม  ตลอดจนการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม และนำผลการวิจัยและพัฒนาที่สำเร็จไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรอย่างเหมาะสมตามแนวทางโครงการหลวงและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

              ในอดีตที่ผ่านมา ระบบการปลูกพืชของเกษตรกรชุมชนบนพื้นที่สูง มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก มีการแผ้วถางขยายพื้นที่ทำกิน เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินและใช้สารเคมีในกระบวนการเพาะปลูกมาก แต่ได้รับผลตอบแทนต่ำ กำไรน้อย เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดทุนและมีหนี้สิน รายได้จากการประกอบอาชีพดั้งเดิมหรือระบบการปลูกแบบเดิมไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวและส่งเสียค่าเล่าเรียนบุตรได้เหมือนก่อน เกิดการย้ายถิ่นฐาน และทำให้การสืบทอดอาชีพด้านเกษตรกรรมเริ่มลดลง จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า วิธีการประกอบอาชีพของเกษตรกรนั้นไม่เหมาะสม หากไม่ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำการเกษตรของเกษตรกร หรือหาพืชทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร อาจทำให้เกษตรกรเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง

 

 

               ปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีการผลิตพืชผักและองุ่นภายใต้โรงเรือนแบบโครงการหลวงมาถ่ายทอดและเสริมเสริมแก่เกษตรกร เป็นต้นแบบการพัฒนาอาชีพแก่ชุมชนบนพื้นที่สูงอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ด้านรายได้เป็นอย่างดี เป็นเกษตรแบบประณีตที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยลดการเผา ลดการขยายพื้นที่เพาะปลูกและลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรได้จริงและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

              เกษตรกรภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของสถาบัน ได้ให้ความสนใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีการผลิตพืชผักและองุ่นภายใต้โรงเรือนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูงกว่าการปลูกนอกโรงเรือน ลดความเหนื่อยยากในการทำงานลดลง สามารถควบคุมแผนการผลิตและตลาดได้แม่นยำ ผลิตผลมีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสูง และเทคโนโลยีการผลิตพืชภายใต้โรงเรือนยังสามารถป้องกันความชื้นจากฝน ลดการใช้พื้นที่และสารเคมีในการเพาะปลูก เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำและการให้ปุ๋ยอย่างเป็นระบบ อีกทั้ง ยังมีส่วนช่วยให้เกษตรกรมีองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ มีความคุ้นชินในระบบควบคุมตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และสามารถพัฒนาเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติต่อไปในอนาคตได้ จึงนับได้ว่า เป็นโอกาสทองของเกษตรกรบนพื้นที่สูงกับการแก้ปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกพืช รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในระหว่างปี 2557-2563 มีการขยายโรงเรือนปลูกผักและองุ่นเพิ่มมากกว่า 820 โรงเรือน หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ เมื่อพิจารณาผลตอบแทนต่อพื้นที่กับพืชเดิมของเกษตรกร พบว่า รายได้สุทธิของเกษตรกรจากการปลูกพืชผักและองุ่นภายใต้โรงเรือนโดยเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้พื้นที่เพาะปลูกนั้น ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าการปลูกในสภาพกลางแจ้ง ประมาณ 2-5 เท่า ช่วยลดการใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชในกระบวนการผลิตมากถึง 30-50% และลดการใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ร้อยละ 80

 

 

          และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เกษตรกรภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของสถาบัน จำนวนประมาณ 696 ราย ได้นำองค์ความรู้และใช้เทคโนโลยีการผลิตพืชผักและองุ่นภายใต้โรงเรือนแบบโครงการหลวงมาใช้ในการประกอบอาชีพและก่อให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรจำนวน 71,162,353 บาท โดยเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญและถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้น สามารถพัฒนาให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง(Smart Farmer) ด้านการปลูกพืชผักและการปลูกองุ่นภายใต้โรงเรือนมากกว่า 300 ราย และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่กระจายอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพื้นที่เฉพาะ และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินในแต่ละจังหวัด

 

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นายอิทธิพล โพธิ์ศรี นายพิมุกต์ พันธรักษ์เดชา นางสาวดวงดาว กันทะรัตน์
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง