"กระเทียม" เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารไทย อุดมไปด้วยไฟโตนิวเทรียนท์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นเหมาะสมกับการปลูกกระเทียม โดยมีพื้นที่ปลูกกระเทียม 70,927 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของพื้นที่ปลูกกระเทียมทั้งประเทศไทย แต่ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรเพิ่มมากขึ้น เพื่อเร่งให้กระเทียมหัวใหญ่ มีน้ำหนักมากโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของกระเทียม กอปรกับปัญหาเรื่องโรคและแมลงส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ซึ่งกระเทียมที่อ่อนะแอต่อโรคจะมีผลต่อคุณภาพ ทำให้หัวฝ่อ อายุการเก็บรักษาสั้น ถูกกดราคารับซื้อ และที่สำคัญคือการขาดแคลนหัวพันธุ์กระเทียมสำหรับปลูกในฤดูถัดไป ซึ่งมีอายุการเก็บรักษา 8 เดือน เพื่อให้มีหัวพันธุ์กระเทียมที่มีคุณภาพ มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน ไม่ฝ่อ ตลอดจนมีกระเทียมที่ปลอดภัยจากสารเคมีสำหรับบริโภค ลดต้นทุนการซื้อหัวพันธุ์ จึงเกิด “การปลูกกระเทียมอินทรีย์” บนพื้นที่สูง
จากการปลูกกระเทียมโดยใส่เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 50 กิโลกรัมต่อไร่ จะมีน้ำหนักผลผลิตกระเทียมสดต่ำกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-10 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ และ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ แต่กลับพบว่าสารสกัดกระเทียมที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ มีปริมาณสาร Diallyl disulfide และ Diallyl trisulfide สูงที่สุด ซึ่งเป็นสารกลุ่มอนุพันธุ์ของอัลลิซิน เป็นสารที่ประกอบด้วยกำมะถันมีสรรพคุณช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลในเลือดและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
ลักษณะของกลีบกระเทียมที่ใส่เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์มีสีม่วงชมพูเข้มกว่ากลีบที่ใส่ปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ต้องการ เมื่อนำไปปลูกพบว่ากลีบพันธุ์กระเทียมที่ใส่ปุ๋ยเคมี ใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และใส่อินทรีย์ ที่อายุ 10 วันหลังปลูกมีความงอกร้อยละ 16, 30 และ 40 ตามลำดับ กลีบกระเทียมที่งอกเร็วและงอกพร้อมกันอย่างสม่ำเสมอเป็นคุณลักษณะที่ดี สามารถจัดการดูแลรักษากระเทียมได้ง่าย จึงทำให้เกษตรกรพึงพอใจกระเทียมที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์
การปลูกกระเทียมบนพื้นที่ที่ระดับความสูง 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ คือ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ระยะก่อนปลูก ระยะ 30 และ 60 วันหลังปลูก และฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากไข่หรือฮอร์โมนไข่จำนวน 4 ครั้ง ที่ระยะ 30, 40, 50 และ 60 วันหลังปลูก พบว่า ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากไข่ 30 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร และใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 75 กก.ต่อไร่ ร่วมกับการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากไข่ 10 มิลลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ให้น้ำหนักกระเทียมสดสูงสุดเฉลี่ย 1,240 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเก็บรักษาจนกระทั่งกระเทียมแห้ง พบว่า กระเทียมที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ และฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากไข่ 30 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร ยังคงเหลือน้ำหนักกระเทียมแห้งสูงสุดเฉลี่ย 586.7 กิโลกรัมต่อไร่ มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก 52.7% ซึ่งต่ำกว่ากรรมวิธีอื่นๆ
การปลูกกระเทียมโดยวิธีการใส่ปุ๋ยเคมีทำให้ได้ผลผลิตน้ำหนักกระเทียมสดสูงสุด แต่หากเกิดโรคหรือแมลงระบาดทำให้ผลผลิตเสียหายได้มากกว่ากระเทียมที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับกระเทียมที่ปลูกโดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์มีการสูญเสียน้ำหนักต่ำสุดและมีคุณค่าทางโภชนเภสัชสูงกว่าการใส่ปุ๋ยเคมี ดังนั้น กระเทียมอินทรีย์ถือว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยหรืออาหารสุขภาพสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค