“ไก่พื้นเมือง” เป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กับเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะบนพื้นที่สูงที่มีการเลี้ยงกันแทบในทุกพื้นที่หรือทุกบ้าน เพื่อใช้เป็นอาหารและในพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อของแต่ละชนเผ่า ไก่พื้นเมืองมีข้อเด่นคือ มีเนื้อแน่น รสชาติอร่อย มีความต้องการของตลาดสูง แต่ก็มีข้อจำกัดคือมีการเจริญเติบโตที่ต่ำ อัตราการสูญเสียค่อนข้างมาก ผลผลิตได้ปริมาณน้อย เพราะแต่ละบ้านเลี้ยงประมาณ 5-10 ตัวต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงแบบปล่อยหลังบ้าน รวมถึงมีการนำไก่พื้นเมืองต่างถิ่นเข้ามาเลี้ยงและให้ผสมพันธุ์กันเองแบบธรรมชาติ จึงส่งผลให้สายพันธุ์ดั่งเดิมค่อยๆ หายไป แต่จะมีสายพันธุ์ลูกผสมมากขึ้น
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้รวบรวมและศึกษาลักษณะสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง (ไก่ตั้ง ,ไก่ต่อ) ใน 10 พื้นที่ ดังนี้ (1) สายพันธุ์จากบ้านดง อ. แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน (2) สายพันธุ์จาก อ.ลี้ จ.ลำพูน (3) สายพันธุ์จากบ้านห้วยน้ำกืน อ.เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย (4) สายพันธุ์จาก อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (5) สายพันธุ์จากบ้านหาดส้มปอย อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ (6) สายพันธุ์จากบ้านปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ (7) สายพันธุ์จากดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (8) สายพันธุ์จาก บ้านยั้งเมิน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ (9) สายพันธุ์จากจ.แม่ฮ่องสอน และ (10) สายพันธุ์จากบ้านแม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยรวมรวบไก่พ่อพันธุ์จำนวน 10 ตัว แม่พันธุ์ 50 ตัว ซึ่งมาจากสายพันธุ์ในแต่ละพื้นที่อย่างละ 6 ตัว อัตราส่วนพ่อพันธุ์ 1 ตัวต่อแม่พันธุ์ 5 ตัว พบว่าไก่พื้นเมืองในแต่ละพื้นที่มีลักษณะภายนอกคล้ายไก่ทั่วไป ลักษณะขนมีสีน้ำตาลแดง เหลือง ดำน้ำตาล ดำ คอมีสีน้ำตาลแดง เหลือง ปีกมีสีเหลือง ดำน้ำตาล และหาง มีสีดำ น้ำตาล เขียว ลักษณะหงอนแบบจักร ตุ้มหูสีแดงและสีขาว สีแข้งมีสีเทาและสีดำ ความสูง (วัดจากพื้นผ่านดวงตาถึงปลายหงอน) เฉลี่ยตัวผู้เท่ากับ 35.6 เซนติเมตร ตัวเมีย เท่ากับ 27.7 เซนติเมตร สำหรับสมรรถภาพการผลิตพบว่า อายุไก่เมื่อเริ่มผสมพันธุ์ได้มีอายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป เพศผู้มีน้ำหนักระหว่าง 1.0-1.5 กก. เพศเมียมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 0.7-1.2 กก. (สุคีพและคณะ, 2561)
และเมื่อคัดเลือกพันธุ์ไก่พื้นเมือง ได้ไก่ที่มีลักษณะภายนอกที่ดีและมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีจำนวน 5 สายพันธุ์ คือ 1) สายพันธุ์จากห้วยน้ำกืน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย 2) สายพันธุ์จากจอมทอง จ.เชียงใหม่ 3) สายพันธุ์จากลี้ จ.ลำพูน 4) สายพันธุ์จาก ปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ 5) สายพันธุ์จากแม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ 3 ระดับความสูงจากน้ำทะเล คือ ระดับความสูงต่ำกว่า 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล 500-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป พบสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับแต่ละระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ดังแสดงในตาราง
ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยของไก่ทั้ง 5 สายพันธุ์อยู่ที่ 8.66 กรัม/วัน สำหรับการทดสอบสมรรถภาพการผลิตของไก่พ่อแม่พันธุ์ พบว่าอายุเมื่อเริ่มผสมพันธุ์ที่ 20 สัปดาห์ น้ำหนักที่ให้ไข่ฟองแรกเพศเมียเฉลี่ย 700 กรัม โดยมีน้ำหนักไข่ฟองแรกเฉลี่ยเท่ากับ 50 กรัม อัตราการฟักออก 50-60 เปอร์เซ็นต์ (สุคีพและคณะ, 2562)
ถึงแม้ว่าไก่พื้นเมืองบนพื้นที่สูง จะมีขนาดตัวเล็กกว่าไก่บ้านทั่วไป แต่ก็สามารถนำไปเลี้ยงได้ในแต่ละพื้นที่ โดยเป็นสายพันธุ์มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ได้ดี ทนทานต่อโรค และสัตว์รบกวนอื่นๆ ได้ดีกว่าไก่เนื้อ สามารถฟักไข่เองและเลี้ยงลูกได้ดี เกษตรกรบนพื้นที่สูงหรือผู้ที่สนใจสามารถเลี้ยงเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีน หรือเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมต่อไปได้