ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า : สมุนไพรกับผู้สูงอายุ

ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า : สมุนไพรกับผู้สูงอายุ 

 

ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า  (cast-iron-plant,  aspidistra)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aspidistra elatior Blume

วงศ์             : Convallariaceae

ชื่ออื่น           : บัวดอย ผู้เฒ่าลืมไม้เท้า เก่ยโคหล่า (กะเหรี่ยง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้า เห็นข้อและปล้องได้ชัดเจน พร้อมกาบหุ้ม  ลำต้น แตกรากตามข้อ ใบเดี่ยว รูปรี เรียงกระจุกบริเวณโคน ก้านใบยาว 30- 50 เซนติเมตร ดอกเดี่ยว กลีบดอก 8 กลีบเรียงจรดกัน โคนกลีบเชื่อมติดกันคล้ายหม้อ ผนังด้านนอกกลีบดอกสีขาวหรือขาวปนชมพู ผนังด้านในกลีบดอก นูนเป็นสันยาวตามยาวของกลีบ ไม่เรียบ สีม่วงแดงไปจนถึงม่วงเข้ม ผลรูปกลม มีหลายเมล็ด

การกระจายพันธุ์

         พบในป่าดิบเขาที่ขึ้นปกคลุมและการกระจายอยู่ตามภูเขาสูงที่มีความสูงจากระดับทะเล ประมาณ 1,400- 2,000 เมตร ในประเทศไทย

 

สมุนไพรบนพื้นที่สูง  สรรพคุณบำรุงกำลัง

         ชุมชนบนพื้นที่สูงใช้  ใบ ตากแห้งชงดื่มเป็นชา รากหรือใบ ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย แก้คนแก่เหนื่อย ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม เป็นยาอายุวัฒนะ

 

การใช้ประโยชน์สมุนไพรปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าด้านอื่นๆ

สรรพคุณ ช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยบำรุงกำลัง ต้านความเมื่อยล้า ต้านการอักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ ลดคอเลสเตอรอล มีสารต้านอนุมูลอิสระ

         ภูมิปัญญาชาวเหนือ นำใบและก้านมาปิ้งไฟแล้วต้มน้ำดื่ม  ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดหลัง เจ็บเอว และมีการนำเอาเหง้าปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าไปดองเหล้ารับประทานช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

         เรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ จากที่ผู้เฒ่ามีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและไม่มีเรี่ยวแรง เมื่อได้ดื่มน้ำต้มปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้ากลับมามีแรงเดินและมีสุขภาพที่แข็งแรงจนลืมใช้ไม้เท้าที่เคยใช้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า

 

 

โรคในผู้สูงอายุ

         การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)  สามารถเกิดได้กับผู้ชายในช่วงวัยใดก็ได้ แต่มักพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น

         ด้วยหลายสาเหตุทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน (ระดับเทสโทสเทอโรนลดลง ระดับโปรแลกตินเพิ่มขึ้น)  เส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย โดยมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน หรือมะเร็งลำไส้     การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยากลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน ยาลดความดันโลหิตสูง เบต้า-บล็อกเกอร์ (และยาลดความดันอื่นๆ ในกลุ่ม antihypertensives) รวมไปถึงการได้รับสารนิโคตินจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานๆ  หรืออายุมากขึ้น

 

การศึกษาวิจัยที่ผ่านมาของ สวพส.

         ข้อมูลพฤกษเคมีเบื้องต้นของสารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า พบสารในกลุ่ม saponins และ phenolics การศึกษาฤทธิ์ต่อสมรรถภาพทางเพศในสัตว์ทดลอง พบว่า  สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้โดยไม่มีผลทำให้ระดับของฮอร์โมน testosterone ในเลือดเปลี่ยนแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับยามาตรฐาน sildenafil  โดยพบว่าขนาดของสารสกัดที่ได้ผลดี คือ สารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าขนาด 428 mg/kg น้ำหนักตัว

         การศึกษาฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ในสารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าขนาด 20, 40 และ 80 mg/kg น้ำหนักตัว มีผลลดระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ค่าความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจก็จะกลับคืนสู่ระดับก่อนได้รับสาร ซึ่งแสดงผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งในหนูปกติที่สลบ และหนูที่เหนี่ยวนำให้ความดันโลหิตสูง ถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน ยามาตรฐาน sildenafil และยาลดความดัน prazosin ซึ่งเกิดนานมากกว่า 30 นาที 

         ทั้งนี้ยา sildenafil มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงคือ ภาวะความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ในกรณีที่ผู้ที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศมีภาวะความดันโลหิตสูงได้

 

 

 

         การศึกษาความเป็นพิษ เพื่อกำหนดความปลอดภัยในการใช้สารสกัดสมุนไพร  เป็นข้อมูลสำคัญอย่างยิ่งต่อการทดสอบทางคลินิกและการนำไปใช้ในคนต่อไป  พบว่า  สารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าขนาด 5,000 mg/kg น้ำหนักตัว ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน (acute toxicity)  สารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าขนาด 100, 500 และ 2,500 mg/kg น้ำหนักตัวมีผลทำให้ค่าโลหิตวิทยาและค่าเคมีคลินิกบางค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่อยู่ในช่วงค่ามาตรฐาน และเมื่อพิจารณาร่วมกับผลทางจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะต่างๆ ไม่ก่อให้เกิดลักษณะผิดปกติของอวัยวะภายใน ดังนั้น สารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษระยะยาว (chronic toxicity) 180 วัน หรือพิษเรื้อรังในหนูแรทเพศเมียและเพศผู้  ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด ไม่มีผลต่อการสร้างเลือดและเม็ดเลือดต่างๆ รวมทั้งไม่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

         จากผลการศึกษา : การใช้กับประชากรในชุมชนโดยการรับประทาน อาจเหมือนหรือแตกต่างจากการศึกษาในสัตว์ทดลองขึ้นอยู่กับการดูดซึม การทำลายยา และระดับยาในร่างกาย ทั้งนี้ ควรระวังการใช้สมุนไพรปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าอยู่บ้าง โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในขนาดสูง  แต่โดยภาพรวมแสดงผลที่มีแนวโน้มดี

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
อัปสร วิทยประภารัตน์
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง