งาหอม หรืองาขี้ม้อน (Perilla frutescens) เป็นพืชท้องถิ่นพบในพื้นที่ภาคเหนือของไทย จัดอยู่ในวงศ์ (family) เช่นเดียวกับกะเพรา ปลูกในพื้นที่อาศัยน้ำฝน งาหอมสามารถนำมาบริโภคในรูปแบบต่างๆ เช่น งาหอมคั่ว งาหอมแผ่น ข้าวหลามงาหอม คุกกี้งาหอม ชาใบงาหอม รวมไปถึงเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางบำรุงผิว แต่งาหอมที่ปลูกมีหลากหลายพันธุ์หลายลักษณะทำให้มีความแปรปรวนสูงจึงต้องมีการสำรวจและคัดเลือกพันธุ์งาหอมให้มีลักษณะและคุณภาพที่ดีเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง
จากการสำรวจและรวบรวมพันธุ์งาหอมจากเกษตรกร 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เลย สุโขทัย และประเทศพม่า สามารถรวบรวมได้ทั้งหมด 53 ตัวอย่าง และจากศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย จำนวน 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 63 ตัวอย่าง จากนั้นนำมาปลูกทดลองที่สถานีเกษตรหลวงปางดะเพื่อปลูกทดสอบและคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและมีโภชนาการสูงระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2563
จากการปลูกทดสอบงาหอมตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 – 4 มกราคม 2562 พบว่ามีพันธุ์ที่เพาะแล้วงอก 51 สายพันธุ์จาก 63 สายพันธุ์ ซึ่งแบ่งกลุ่มตามอายุการเก็บเกี่ยวได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 งาดอ มีอายุเก็บเกี่ยวก่อน 130 วัน กลุ่มที่ 2 งากลาง มีอายุเก็บเกี่ยวอยู่ในช่วง 130 – 160 วัน และกลุ่มที่ 3 งาปี มีอายุเก็บเกี่ยว 160 วันขึ้นไป
ผลการปลูกทดสอบ
จากการปลูกทดสอบงาหอมพบว่ามีความหลากหลายทั้งความสูงของต้น วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว ความยาวช่อดอก จำนวนดอกต่อช่อ รวมถึงน้ำหนัก 1,000 เมล็ด พบว่าโดยรวมทุกพันธุ์งาปีให้ผลผลิตมากที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบตามกลุ่ม พันธุ์งาดอที่มีผลผลิตสูงคือ CR 10 พันธุ์งากลางมีผลผลิตสูงคือ Doa 6 พันธุ์งาปีมีผลผลิตสูงคือ Doa 8 ดังนั้นการเลือกปลูกพันธุ์งาหอมที่ให้ผลผลิตสูง และมีความสม่ำเสมอจึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชท้องถิ่นได้อีกทางและสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงได้