วิสาหกิจชุมชนบ้านปางแดงใน งานหัตถกรรมที่ไม่ได้มีดีแค่ความงาม

วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงใน

งานหัตถกรรมที่ไม่ได้มีดีแค่ความงาม

 

 

        กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงใน เกิดจากการรวมกันของผู้หญิงในหมู่บ้านปางแดงในจำนวน 33 คน ที่ใช้เวลาว่างจากการทำเกษตรกรรมมาร่วมกันทอผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย เช่น เสื้อคลุมดาราอั้ง กระเป๋าย่าม ผ้าพันคอ หมวก และอื่นๆ โดยกระบวนการกลุ่มคณะกรรมการจำนวน 8 คน เป็นผู้ที่คอยขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ตั้งแต่การจัดหาวัสดุ วัตถุดิบในการย้อมสี การทอผ้า การตลาดและการจำหน่าย จนถึงการส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อ  โดยคณะกรรมการจะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนและตามความถนัดของคณะกรรมการแต่ละคน บ้านปางแดงใน ประชากรจำนวน 62 ครัวเรือน 307 คน ประชากรเป็นชนเผ่าปะหล่องหรือดาราอั้ง เป็นหย่อมบ้านหนึ่งของบ้านทุ่งหลุก หมู่ที่ 9 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่อพยบถิ่นฐานมาจากประเทศพม่า ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีรายได้หลักจากการทำการเกษตร

 

 

         โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจะใช้สีย้อมผ้าจากธรรมชาติจากป่าชุมชนในพื้นที่ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน โดยมีจำนวน 35 เฉดสีจากพืช 20 ชนิดเช่น เพกา ไม้ประดู่ และใบแห้ว  ทำให้สีที่ได้จากการย้อมมีความสวยงามตามธรรมชาติ  ส่วนลวดลายที่ทอก็จะมีชื่อเรียกต่างกันไปซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของกลุ่ม ซึ่งทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้จดลิขสิทธิ์ลวดลายของภูมิปัญญาไว้แล้ว เดิมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีช่องทางการจำหน่ายภายในชุมชน ส่งจำหน่ายผ่านงานหัตถกรรม มูลนิธิโครงการหลวง และกลุ่มงานตลาดสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. แต่ปัจจุบันได้มีการเริ่มจำหน่ายในตลาดออนไลน์ผ่าน Page Facebook : หัตถกรรมหลังเขา ชนเผ่าดาราอั้ง Dara-Ang’s Handicraft ทำให้สินค้าของกลุ่มเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปมากขึ้น ในปี พ.ศ.2563  กลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า จำนวน 382,862 บาท และยังได้รับเลือกเป็นวิสาหกิจชุมชนดีเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นตัวแทนวิสาหกิจชุมชนเข้าประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับเขต และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการย้อมสีผ้าธรรมชาติให้กับนักเรียน นักศึกษา เกษตรกรทั่วไป รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน จากการได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ของโครงการหลวงด้านหัตถกรรม รวมถึงการให้คำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม และการติดตามอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ สวพส. ประกอบกับการสนับสนุนจากหน่วยงานบูรณการทั้งในส่วนท้องถิ่นและภูมิภาค ทำให้กลุ่มสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าไปได้อย่างรวดเร็ว แต่กลุ่มก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง ได้มีการวางแผนงานในการยกระดับมาตรฐานของกลุ่ม มีการยื่นขอจดลิขสิทธิ์ลายปักผ้าชนเผ่าดาราอั้ง ยื่นขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.) ยื่นประกวดรางวัล OTOP ติดดาว อีกทั้งยังจะขยายตลาดไปสู่ระดับสากลมากขึ้นในอนาคต เช่น การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และการพัฒนาระบบตลาดด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยให้การดำเนินงานของกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์มากขึ้น เช่น E-bay  Amazon

 

 

           อย่างไรก็ตามความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีกำลังหนุนเสริมจากคนรุ่นใหม่  ที่ได้รับการศึกษาสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ดี และมีความรู้ด้านการตลาดและเทคโนโลยี อย่างนางสาวลักขณา เหียง และนางสาวเดือน ลุงเมือง เยาวชนของบ้านปางแดงในที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและเข้ามาเป็นกำลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการตลาด โดยเฉพาะช่องทางตลาดออนไลน์ที่ทำให้หัตถกรรมบ้านปางแดงในกลายเป็นที่รู้จักของกลุ่มคนที่ชื่นชอบงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ ที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ซึ่งทำให้หัตถกรรมบ้านปางแดงในมีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับงานหัตถกรรมที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด นอกเหนือจากรายได้ที่กลุ่มแม่บ้านและสตรีบ้านปางแดงในได้รับจากการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นชาติพันธุ์ให้คงอยู่ มีถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาแก่เยาวชนรุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังให้มีความรักและหวงแหนความเป็นภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า จึงนับได้ว่างานหัตถกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงในไม่ได้มีดีแค่ความงาม แต่ยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาคนในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป….

 

 

 

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
จันทราวดี อารีศรีสม
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง