1 หลักกฎหมายเบื้องต้นในการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดหรือไม่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 วางหลักว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
องค์ประกอบของ มาตรา 420 ได้แก่
1) มีการกระทำ
คือ การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกในการเคลื่อนไหวนั้น และอยู่ในบังคับของจิตใจผู้กระทำ การกระทำ รวมถึงการงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผล โดยผู้กระทำต้องมีหน้าที่ หน้าที่ดังกล่าวอาจเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย จากสัญญา หรือเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตน หน้าที่ที่เกิดจากความสัมพันธ์พิเศษ หรือหน้าที่อื่น ๆ เช่น หน้าที่ที่เกิดจากระเบียบ การงดเว้นนี้อาจเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ได้ แต่ถ้าผู้กระทำไม่มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ การงดเว้นนั้นไม่ถือเป็นการละเมิด
2) โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
จงใจ คือ การกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน
ประมาทเลินเล่อ คือ การกระทำโดยไม่จงใจ แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ [1]
3) กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย
การทำละเมิดต้องเป็นการทำต่อบุคคลอื่น “โดยผิดกฎหมาย” อาจผิดต่อกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง รัฐธรรมนูญ ล่วงสิทธิผิดต่อบุคคลอื่น หรืออาจเป็นการฝ่าฝืนไม่ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงผิดระเบียบต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย แต่หากการกระทำนั้นไม่ผิดกฎหมายก็ไม่เป็นละเมิด เช่น กฎหมายให้อำนาจโดยตรง มีอำนาจตามสัญญาที่ให้กระทำได้ มีอำนาจตามคำพิพากษา หรือเกิดอำนาจจากความยินยอม
4) ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
ความเสียหายนั้นจะเป็นความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ต้องเป็นความเสียหายที่แน่นอน และความเสียหายจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยผิดกฎหมายของผู้กระทำด้วย การกระทำจะเป็นละเมิดหรือไม่ ต้องมีความเสียหายเกิดขึ้น แม้มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีความเสียหายย่อมไม่เป็นละเมิด
(สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น สิทธิในความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการที่จะได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งและสิทธิเลื่อนขั้นเงินเดือนซึ่งเป็นสิทธิของข้าราชการที่กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลกำหนดไว้ เป็นต้น)
** ต้องครบองค์ประกอบดังกล่าวทุกข้อ จึงจะถือว่าเป็นการกระทำ “ละเมิด” ซึ่งผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎ.5521/2550 การที่จะถือว่าบุคคลหนึ่งปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูในขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต แต่ถ้าในขณะที่ก่อสร้างไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไปครั้นมาภายหลังจึงรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต จำเลยทั้งสองรู้แล้วว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในขณะที่เริ่มก่อสร้างแต่เพียงบางส่วน แต่จำเลยทั้งสองยังจงใจก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้แจ้งให้ทราบก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ฎ.7452/2541 จำเลยซึ่งเป็นแพทย์ได้แจ้งโจทก์ว่ามีเด็กตายในท้องโจทก์ โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยทำการขูดมดลูกและทำแท้งให้ แต่การที่จำเลยใช้เครื่องมือแพทย์เข้าไปขูดมดลูกของโจทก์ทำให้มดลูกทะลุ ทั้งที่มดลูกของโจทก์มีลักษณะเป็นปกติ มิได้มีลักษณะบางแต่อย่างใด และทำให้ลำไส้เล็กทะลักออกมาทางช่องคลอดยาว 5 เมตร เนื่องจากเครื่องมือแพทย์ที่ใส่เข้าไปในช่องคลอดได้เกี่ยวเอาลำไส้ดึงออกมานั่นเอง จำเลยจึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามปกติวิสัยของผู้มีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพแพทย์ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย ซึ่งต่อมาแพทย์คนอื่นที่ตรวจโจทก์ในภายหลังเห็นว่า หากนำลำไส้ของโจทก์ใส่เข้าไปในร่างกายอีกอาจมีการติดเชื้อในช่องท้อง จึงได้ทำการตัดลำไส้ที่ทะลักออกมาทิ้งไป จำเลยจึงต้อง รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์
ฎ.1201/2502 จำเลยเป็นเทศบาลละเว้นหน้าที่อันจะต้องกระทำ กล่าวคือจัดให้ถมบ่อทำให้เป็นพื้นเดียวกับพื้นถนนเสียก่อนที่จะเปิดถนนให้รถผ่านไปมาได้ ทั้งยังปรากฏว่า จำเลยมิได้จัดให้มีสิ่งกีดกั้นบ่อนี้เป็นเครื่องหมายให้สะดุดตาแก่ผู้คนที่ผ่านไปมา และในเวลากลางคืนก็มิได้จัดให้มีโคมไฟจุดให้ความสว่างตามสมควร จำเลยย่อมเห็นได้อยู่แล้วว่าเป็นสิ่งอันตรายแก่รถและผู้คนสัญจรไปมาอย่างมากที่จะปล่อยให้มีบ่ออยู่เช่นนั้น จนเป็นเหตุให้รถโจทก์ขับไปชนขอบบ่อนี้เข้าและเกิดการเสียหายขึ้น ดังนี้ต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
ฎ.1996/2523 การที่มีคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ในโรงเรียนที่จำเลยเป็นครูไม่ได้มาอยู่เวรตามหน้าที่ แม้จะเป็นการผิดวินัย แต่จะถือเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้โรงเรียนถูกลักทรัพย์หาได้ไม่ เพราะถึงหากจำเลยจะมาอยู่เวรที่โรงเรียนก็ไม่อาจป้องกันไม่ให้เกิดการลักทรัพย์นั้นได้ เนื่องจากจำเลยไม่มีหน้าที่เป็นคนยามคอยตรวจตราเฝ้าขโมย แต่มีภารโรงทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าขโมยอยู่แล้ว
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.37/2552 ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งมีอำนาจพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านราชการ พ.ศ. 2527 จะต้องใช้ดุลพินิจจัดให้ข้าราชการที่มีสิทธิเบิก ค่าเช่าบ้าน ให้เข้าพักอาศัยในบ้านพักราชการที่ว่างอยู่ก่อนนั้น แต่กลับมีคำสั่งอนุมัติให้นางสาว ส. ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าการอนุมัติตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539 ถึงเดือนกันยายน 2541 เป็นการอนุมัติที่ผิดระเบียบ พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการจงใจกระทำผิดต่อกฎหมาย หรือระเบียบของทางราชการ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย
2 ความรับผิดในการทำละเมิดของ “นายจ้าง”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 วางหลักว่า “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”
องค์ประกอบของ มาตรา 420 ได้แก่
(1) นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ความเป็นนายจ้างกับลูกจ้างกันนั้นมีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยค่าตอบแทนคือค่าจ้าง โดยสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน คือ นายจ้างจะต้องมีอำนาจในการบังคับบัญชาควบคุมดูแลสั่งการลงโทษ ให้คุณให้โทษแก่ลูกจ้างได้ ถ้าไม่มีอำนาจบังคับบัญชา หรือลูกจ้างทำงานโดยอิสระไม่อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการตามระเบียบวินัยของ ผู้ว่าจ้างแล้ว กรณีดังกล่าวไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน
(2) การกระทำของลูกจ้างจะต้องกระทำ “ในทางการที่จ้าง” นายจ้างต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้างซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติงาน โดยนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในลักษณะลูกหนี้ร่วม จะเกิดละเมิดในเวลาปฏิบัติงานหรือนอกเวลาปฏิบัติงานก็ได้ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติงานตามที่มอบหมายตามหน้าที่ เมื่อลูกจ้างทำในทางการที่จ้างแล้วไม่ว่าลูกจ้างจะจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หรือทำไปโดยฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างหรือฝ่าฝืนระเบียบ นายจ้างต้องร่วมรับผิด
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎ.3757/2553 จำเลยที่ 1 พักอยู่ที่ที่ทำงานและจะให้รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นประจำในการทำงาน เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา หลังจากเวลาเลิกงานตามปกติแล้ว ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปเติมน้ำมันแม้จะอยู่นอกเวลาทำงานแต่ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
ฎ.147/2518 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่สารบรรณของจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ขับรถ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 3 โดย น. ลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ยินยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ขับ และนั่งมาด้วยกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นหน้าที่ของ น. ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ต้องควบคุมให้จำเลยที่ 1 ขับรถนั้นมิให้เกิดเหตุร้ายเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุแทน น. ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์เสียหาย น. ต้องรับผิดในการละเมิดที่เกิดขึ้นการละเมิดนี้ย่อมนับได้ว่าอยู่ในกรอบแห่งการที่จำเลยที่ 3 จ้าง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ฎ.1716-1717/2523 (ประชุมใหญ่) นายจ้างใช้ลูกจ้างซึ่งเป็นคนขับรถไปรับหัวหน้าคนงานที่ถนนลาดพร้าวมาปฏิบัติงานที่บริษัทถนนราชวิถี ลูกจ้างขับรถออกไปแล้วได้ขับรถไปเอากางเกงที่ตัดไว้ที่ตลาดบางแคเสียก่อน ระหว่างทางไปชนคนตายและบาดเจ็บ ดังนี้ ก็ยังถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการ ที่จ้างของนายจ้าง นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง
3 ความรับผิดในการทำละเมิดของ “ผู้ว่าจ้าง”
* กรณีเจ้าหน้าที่จ้างเหมาบริการ/ จ้างปฏิบัติงานในโครงการ พิจารณาตามหลักกฎหมายในส่วนนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 วางหลักว่า “ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”
หลัก กรณีการว่าจ้างทำของ ผู้รับจ้างไม่ต้องทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง เพียงแต่ทำให้สำเร็จตามกิจการที่ว่าจ้างเท่านั้น คือ มุ่งถึงผลความสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชา ดังนั้น หากผู้รับจ้างไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำงานที่ว่าจ้างนั้น โดยหลักแล้วผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้นด้วย ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎ.2835/2552 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง ท. ให้รับเหมาก่อสร้างบ้าน โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนมาติดต่อรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิที่จะบอกกล่าวให้ ท. ทำงานตรงไหนก็ได้ตามที่ต้องการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งให้ ท. เปลี่ยนแปลงขนาดเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ราคาแพงกล่าวเดิม และเป็นคนเอาเงินให้ ท. ไปซื้อ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทน ดังนั้น แม้ ท. จะเป็นผู้ดำเนินการตอกเสาเข็ม แต่จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ และการที่ ท. ไม่ได้เรียนวิชาช่างมาโดยตรง เพิ่งรับเหมางานก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 เป็นงานแรก ก็เกิดเหตุทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองเกิดรอยร้าว เสียหาย แสดงว่า ท. เป็นผู้ขาดความรู้ความสามารถ การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ ท. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในการเลือกหาผู้รับจ้างมาก่อสร้างด้วย
ข้อยกเว้น เว้นแต่หากเข้าข้อยกเว้นข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับผู้รับจ้างด้วย
(1) ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ
เช่น ฎ.984/2531 จำเลยจ้าง น. ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างอาคารชุดโดยจำเลยเลือกจ้างให้ผู้รับจ้าง ฝังเสาเข็มโดยวิธีตอกเพราะเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะทั้ง ๆ ที่ตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้อาคารโจทก์และผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย แต่จำเลยก็ไม่สนใจ ถือได้ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์
(2) ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในคำสั่งที่ตนให้ไว้
เช่น นั่งรถแท็กซี่แล้วบอกให้ขับรถเร็ว เหยียบเต็มที่ไปเลยจะรับผิดชอบเอง หากเกิดเหตุละเมิดขึ้นจากการขับรถเร็ว ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดเพราะคำสั่งที่ตนให้ไว้ เป็นต้น
(3) ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้าง
เช่น การเลือกผู้รับจ้างที่ไม่มีความรู้ความสามารถในการงานที่จะทำนั้นให้มาทำงานให้
ตัวอย่างคำพิพากษา
ฎ.2835/2552 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง ท. ให้รับเหมาก่อสร้างบ้าน โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนมาติดต่อรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิที่จะบอกกล่าวให้ ท. ทำงานตรงไหนก็ได้ตามที่ต้องการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งให้ ท. เปลี่ยนแปลงขนาดเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ราคาแพงกล่าวเดิม และเป็นคนเอาเงินให้ ท. ไปซื้อ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทน ดังนั้น แม้ ท. จะเป็นผู้ดำเนินการตอกเสาเข็ม แต่จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ และการที่ ท. ไม่ได้เรียนวิชาช่างมาโดยตรง เพิ่งรับเหมางานก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 เป็นงานแรก ก็เกิดเหตุทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองเกิดรอยร้าว เสียหาย แสดงว่า ท. เป็นผู้ขาดความรู้ความสามารถ การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ ท. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในการเลือกหาผู้รับจ้างมาก่อสร้างด้วย
4 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
* กรณีเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พิจารณาตามหลักกฎหมายในส่วนนี้
การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีองค์ประกอบดังนี้
(1) ต้องมีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น
การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น
(2) ต้องเป็นการกระทำละเมิดโดย “เจ้าหน้าที่”
ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดบทนิยาม “เจ้าหน้าที่” และ “หน่วยงานของรัฐ” ดังนี้
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ดังนั้น บุคคลทุกประเภทที่ทำงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่สถาบัน ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้พระราชบัญญัตินี้
กรณีจ้างลูกจ้างเป็นครั้งคราวเฉพาะงานนั้น ต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ ถ้ามีความสัมพันธ์ในลักษณะการใช้อำนาจบังคับบัญชา ก็ถือว่าเป็นลูกจ้างตามนัย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
กรณีที่หน่วยงานของรัฐจ้างเอกชนทำหน้าที่บางอย่างแทนหน่วยงานของรัฐ เช่น กรณีที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จ้างเหมาบริการบุคคลเพื่อปฏิบัติงานในโครงการต่าง ๆ ของสถาบัน ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ใช้วิธีการจัดหาตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 บุคคลดังกล่าวมิใช่เจ้าหน้าที่ตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
(3) ต้องเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่
เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง และการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือแก่รัฐขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หน้าที่อาจเกิดจากระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมายก็ได้ ซึ่งการกระทำหรือละเว้นการกระทำในหน้าที่ดังกล่าว หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือแก่รัฐก็เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
ความรับผิด
(1) กรณีการกระทำละเมิดมิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่
เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำละเมิดเป็นการส่วนตัว ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
(2) กรณีการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ก. กรณีเจ้าหน้าที่ “มิได้” จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดในการละเมิด หน่วยงานของรัฐจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้
แต่หากเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ดังกล่าวชอบที่จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนนั้นคืนจากหน่วยงานของรัฐ
ข. กรณีเจ้าหน้าที่ได้กระทำการด้วยความ “จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”
เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการละเมิดนั้น และหน่วยงานของรัฐมีสิทธิไล่เบี้ยหรือเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ โดยให้คำนึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์ โดยไม่ต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกจากความรับผิดของเจ้าหน้าที่ด้วย
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ทั้งนี้ หน่วยงานของของรัฐจะต้องแยกความรับผิดของเจ้าหน้าที่แต่ละคนออกจากกันว่าแต่ละคนควรต้องรับผิดชดใช้เป็นเงินจำนวนเท่าใด และเมื่อเจ้าหน้าที่คนใดได้ชดใช้ส่วนของตนไปแล้วก็พ้นจากความรับผิดไป
ตามมาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
** อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่กระทำผิดวินัย หน่วยงานของรัฐโดยผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ยังสามารถดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐได้อีกด้วย
ตัวอย่างคำพิพากษา
ฎ.1976/2551 จังหวัดยโสธรทำสัญญาว่าจ้างกับจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายอำเภอลงนามแทนจังหวัดยโสธร ต่อมาโจทก์ได้รับโอนสิทธิในการรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ไม่จ่ายเงินแก่โจทก์กลับไปจ่ายแก่จำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และการจ่ายเงินของจำเลยที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะนายอำเภอและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจังหวัดยโสธร มิใช่ทำในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 แต่ต้องฟ้องต่อหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงตาม มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ฎ.16150/2556 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่ของตนกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.13/2548 การที่กรรมการตรวจการจ้างทำรายงานเสนอผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการเพิ่มและลดงานตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร โดยไม่เป็นไปตามระเบียบและไม่ตรวจสอบราคา ที่แท้จริง จนเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย เนื่องจากงานส่วนที่ลด มีราคาสูงกว่างานส่วนที่ผู้รับจ้างต้องทำเพิ่ม ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
1. คำบรรยายเนติบัณฑิตยสภา วิชาละเมิด สอนโดย อาจารย์ไสลเกษ วัฒนพันธุ์
2. วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์. (2561). กฎหมายแพ่งพิสดาร เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2561) นิติกรรม สัญญา หนี้ ละเมิด. หจก.แสงจันทร์การพิมพ์.
3. น้ำฝน ราชสมบัติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. หลักความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่, สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2564. จาก https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/253/files/Article2.pdf