บทความกฎหมายน่ารู้: การหักหนี้สินและการบังคับคดีจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ที่ผ่านมาเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาในประเด็น “การหักหนี้สินและการบังคับคดีจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ ได้ศึกษาและสรุปประเด็นดังกล่าวมาอธิบายตามหลักกฎหมายแห่งข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2563 ดังนี้

  ข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2563 ที่เกี่ยวข้อง

  ข้อ 6 กำหนดว่า “วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นหลักประกันแก่เจ้าหน้าที่ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ตาย

(2) เกษียณอายุ

(3) ได้รับอนุญาตให้ลากออก

(4) สถาบันยุบหรือเลิก

(5) สิ้นสุดสัญญาจ้าง

(6) ถูกสั่งให้ออกหรือเลิกจ้างตามข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยการพัฒนาและบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(7) เจ้าหน้าที่ลาออกจากกองทุน”

  ข้อ 8 กำหนดว่า “วิธีรับสมัครสมาชิกกองทุนและการสิ้นสมาชิกภาพ

(2) การสิ้นสมาชิกภาพ สมาชิกภาพของสมาชิกจะสิ้นสุดลงเมื่อ

(2.1) พ้นสภาพจากการเป็นเจ้าหน้าที่ตามข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยการพัฒนาและบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(2.2) ลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพ

(2.3) กองทุนเลิกตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”

  ข้อ 16 วรรคแรกกำหนดว่า “การจ่ายเงินจากกองทุน เมื่อเจ้าหน้าที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่น ซึ่งมิใช่เหตุกองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียวภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นสิ้นสมาชิกภาพ”

  ข้อ 16 วรรคท้าย กำหนดว่า “สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้ และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี”

 

  “สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้”

กฎหมายห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากกองทุนเมื่อสิ้นสมาชิกภาพตามข้อ 8 แห่งข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2563 โอนสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนไปให้แก่บุคคลอื่น เช่น การที่เจ้าหน้าที่ไปทำความตกลงหรือทำหนังสือยินยอมไว้ล่วงหน้าว่า เจ้าหน้าที่ยินยอมให้สถาบันหักเงินที่เจ้าหน้าที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนไปชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ ความยินยอมเช่นนี้เรียกว่าการโอนสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนไปให้บุคคลอื่น ข้อตกลงเช่นนี้จะบังคับใช้ไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมาย มีผลเป็นโมฆะ (โมฆะ หมายความว่า เสียเปล่า หรือไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย)

  “สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี”

กรณีหากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถูกเจ้าหนี้ฟ้องคดีต่อศาลขอให้คืนเงิน และศาลพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี ซึ่งหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วเจ้าหน้าที่หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จึงจะต้องถูกบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา เรียกว่า “การบังคับคดี” โดยในขั้นตอนของการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ถ้าหากเจ้าหน้าที่หรือลูกหนี้สิ้นสมาชิกภาพจากกองทุนและมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุน กฎหมายห้ามมิให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวบรวมทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่โดยการอายัดเงินที่สมาชิกมีสิทธิได้รับจากกองทุน กองทุนยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้แก่ตัวเจ้าหน้าที่เองเท่านั้น จะจ่ายให้ใครอื่นไม่ได้

ดังนั้น จึงไม่อาจกำหนดข้อบังคับใดหรือข้อตกลงใดให้หักหนี้สินของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อเจ้าหนี้อื่น จากเงินของกองทุนเสียก่อนได้ เพราะการยินยอมให้บุคคลอื่นใดหักหนี้สินของเจ้าหน้าที่จากเงินกองทุนย่อมมีผล เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหน้าที่มีต่อกองทุนไปให้บุคคลอื่น อีกทั้งสิทธิเรียกร้องจากกองทุนไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี การอายัดเป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง จึงไม่อาจมีการอายัดเงินจากกองทุนที่เจ้าหน้าที่มีสิทธิได้รับได้ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องได้รับเงินจากกองทุนทั้งหมดคราวเดียว ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียวภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นสิ้นสมาชิกภาพ ตามข้อ 16 วรรคแรก แห่งข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2563

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1135/2542, 3765/2545 และ 5954/2550
- ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 599/2539


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความน่าอ่านเพิ่มเติม