บทความกฎหมายน่ารู้: ที่ดิน ส.ป.ก. ขาย หรือให้เช่า หรือให้บุคคลอื่นเข้าทำประโยชน์ ได้หรือไม่

ผู้ได้รับสิทธิให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ที่ดิน ส.ป.ก.) โดยได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ส.ป.ก.4-01 มีสิทธินำที่ดินดังกล่าว ขาย ให้เช่า หรือให้ผู้อื่นเข้าทำประโยชน์ ได้หรือไม่ พิจารณาได้จากกฎหมายดังต่อไปนี้

 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 39 กำหนดว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถานบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ. 2535

ข้อ 7 กำหนดว่า “เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับมอบที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินมีหน้าที่ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเต็มความสามารถและไม่นำที่ดินนั้น ทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใด ๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น …”

ข้อ 8 กำหนดว่า “หากเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรกระทำการฝ่าฝืน ข้อ 7 ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือเตือนให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรละเว้นการกระทำหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือทำให้ที่ดินกลับสู่สภาพเดิมภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้นั้นยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็ให้ดำเนินการตามข้อ 11 ต่อไป

ในกรณีที่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรได้โอนการทำประโยชน์ในที่ดินไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนไปยังบุคคลอื่นหรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกรณีหนึ่งกรณีใดในข้อ 7 และไม่สามารถหาตัวได้พบให้ดำเนินการตามข้อ 11 ได้โดยมิต้องมีการเตือน”

ข้อ 11 กำหนดว่า “เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบจาก ส.ป.ก. ในกรณี ดังต่อไปนี้

(4) ไม่ปฏิบัติตามความในข้อ 7 และไม่ปฏิบัติตามคำเตือนในข้อ 8

การสิ้นสิทธิตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ย่อมมีผลในทันทีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น…”

 อธิบายสรุปได้ว่า

  • ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น มีเจตนารมณ์เพื่อจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินหรือเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินแทน หรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น โดยผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. มีหน้าที่ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเอง และต้องไม่ทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้น ทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือยกที่ดินที่ได้รับให้บุคคลอื่นเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใด ๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น เว้นแต่เป็นการตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หากผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ประสงค์จะสละสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินให้ยื่นคำขอสละสิทธิได้ตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด
  • ประกอบกับหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ระบุว่า “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพในการเกษตร ที่ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นรากฐานเบื้องต้นของการผลิตทางเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันปรากฏว่าเกษตรกรกำลังประสบความเดือดร้อนเนื่องจากต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินและกลายเป็นผู้เช่าที่ดิน ต้องเสียค่าเช่าที่ดินในอัตราสูงเกินสมควร ที่ดินขาดการบำรุงรักษา จึงทำให้อัตราผลิตทางเกษตรกรรมอยู่ในระดับต่ำ เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมและเสียเปรียบจากระบบการเช่าที่ดินและการจำหน่ายผลิตผลตลอดมา ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะความยุ่งยากทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและการเมืองของประเทศเป็นอย่างมาก จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วนที่สุด โดยวิธีการปฏิรูปที่ดิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน และให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด พร้อมกับการจัดระบบการผลิตและจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนองแนวนโยบายแห่งรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น” จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดิน ส.ป.ก. นั้น จะโอนสิทธิในที่ดินไปยังบุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม
  • หากผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว โดยนำที่ดินออกขาย ให้เช่า หรือยกที่ดินให้บุคคลอื่นเข้าทำประโยชน์ หรือมีพฤติกรรมใด ๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น จะเป็นเหตุให้ผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. นั้น สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ทำให้เสียสิทธิทำกินในที่ดินและต้องออกจากที่ดินนั้น หากไม่ยอมออกถือว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ และถือเป็นการเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองที่ดินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นการกระทำความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 362 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และกรณีที่มีการทำสัญญาซื้อขายหรือสัญญาเช่าที่ดิน ส.ป.ก. จะถือเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การซื้อขายหรือการเช่าตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ซื้อที่ดิน ส.ป.ก. จะไม่ได้รับสิทธิใด ๆ ในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว นอกจากนี้หากผู้ซื้อที่ดินได้ชำระเงินค่าที่ดิน ส.ป.ก. ทั้งที่รู้ว่าเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ซื้อขายเปลี่ยนมือ ถือเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตามมาตรา 411 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ซื้อไม่อาจเรียกคืนเงินที่ชำระไปได้
 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560, 8222/2553, 10669/2546 และ 1876/2542
2. นายสมชาย หลงเศษ นิติกรปฏิบัติการ สำนักกฎหมาย ส.ป.ก., ซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโมฆะ ผู้ขายเสียสิทธิ ผู้ซื้อเสียเงินฟรี ทั้งคู่อาจต้องรับโทษจำคุก, สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2564 จาก https://www.alro.go.th/loei/ewt_dl_link.php?nid=705&filename=index


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความน่าอ่านเพิ่มเติม