บทความกฎหมายน่ารู้: การจ่ายค่าชดเชยในกรณีการออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ

การจ่ายค่าชดเชยกรณีการออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุของภาคเอกชนกับองค์การมหาชน ใช้หลักกฎหมายในการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยที่แตกต่างกัน โดยการจ่ายค่าชดเชยของภาคเอกชนจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง แต่สำหรับองค์การมหาชนเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้บัญญัติยกเว้นกิจการขององค์การมหาชนไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งองค์การมหาชนมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชน รายละเอียดอธิบายได้ดังนี้

การจ่ายค่าชดเชยในกรณีการออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 5 กำหนดว่า “ในพระราชบัญญัตินี้

“ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

มาตรา 118 กำหนดว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

“ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปี แต่ไม่ครบยี่สิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(6) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบยี่สิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสี่ร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสี่ร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป…”

มาตรา 118/1 กำหนดว่า “การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง...”

อธิบายได้ดังนี้

1 เมื่อพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องข้างต้น “ค่าชดเชย” เป็นเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด แต่ถ้าลูกจ้างลาออกจากงาน ทิ้งงาน หรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด โดยพฤติการณ์ที่ถือเป็นการเลิกจ้าง มี 2 กรณี คือ (1) การกระทำใดๆ ที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด เช่น การเกษียณอายุ เป็นต้น หรือ (2) กรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป เช่น นายจ้างไม่มีงานให้ลูกจ้างทำต่อไป หรือนายจ้างปิดกิจการ

“เกษียณอายุ” หมายความว่า “กำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานเนื่องจากลูกจ้างมีอายุเกินกว่าที่นายจ้างจะจ้างไว้ทำงานหรือมากเกินกว่าที่ลูกจ้างจะรับทำงานนั้นต่อไป” ซึ่งการเกษียณอายุอาจเกิดจากกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดขึ้นไว้ในสัญญาจ้างแรงงานหรือในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ได้ หรืออาจเกิดจากกรณีที่นายจ้างได้กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือประกาศของนายจ้างเกี่ยวกับการทำงานก็ได้

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การเกษียณอายุหรือการที่ลูกจ้างออกจากงานเนื่องจากมีอายุครบตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ จึงถือว่าเป็น “การเลิกจ้าง” เมื่อถือว่าเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างจึงมีหน้าที่ ต้องจ่าย “ค่าชดเชย” ให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้นตามอัตราที่มาตรา 118 วรรคหนึ่งกำหนดไว้แล้วแต่กรณี ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง

 

การจ่ายค่าชดเชยในกรณีการออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1. พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 35 กำหนดว่า “เจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ด้วย

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์…”

มาตรา 35/1 กำหนดว่า “การขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๕ (๒) ให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามกำหนดเวลาในสัญญาจ้าง”

มาตรา 38 กำหนดว่า “กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน”

2. กฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

“(3) มิให้ใช้บทบัญญัติ... หมวด ๑๑ ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา ๑๑๘ ถึงมาตรา ๑๒๒ ...บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ”

3. หนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร1200/ว13 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชน

อธิบายได้ดังนี้

มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ประกอบกับ (3) แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ดังนั้น องค์การมหาชนที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก จึงไม่จำเป็นต้องจ่าย “ค่าชดเชย” ตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ2

3การจ่าย “ค่าตอบแทนการเลิกจ้าง”

  1. องค์การมหาชนพึงจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่กรณีเลิกจ้าง ในกรณีองค์การมหาชนไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วยเหตุที่องค์การมหาชนถูกยุบเลิกหรือไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือโดยเหตุอื่นที่กำหนดไว้ในข้อบังคับขององค์การมหาชนเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้าง
  2. ตามมาตรา 35/1 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ว่า การขาดคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่เพราะเหตุอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา 35 (2) ให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามกำหนดเวลาในสัญญาจ้าง ซึ่งไม่ใช่การเกษียณอายุราชการและไม่ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเช่นเดียวกับข้าราชการ ประกอบกับองค์การมหาชนได้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังนั้น องค์การมหาชนจึงไม่ต้องจ่าย “ค่าตอบแทนการเลิกจ้าง” เมื่อสิ้นสุดสัญญาเพราะเหตุอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่อาจจ่ายในรูปแบบของประโยชน์ตอบแทนอื่น ตามมาตรา 24 (3) (ข) (จ) แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้การกำหนดอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง เงินอื่น และการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นของเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน เป็นอำนาจของคณะกรรมการองค์การมหาชน แต่ต้องคำนึงถึงสถานะทางการเงินขององค์การมหาชนและภาระต่องบประมาณแผ่นดินด้วย ทั้งนี้ ความหมายของ “ประโยชน์ตอบแทนอื่น” ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (อ.กพม.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 มีความเห็นว่า “ประโยชน์ตอบแทน” ตามมาตรา 38 หมายถึง “ประโยชน์ตอบแทนโดยรวมไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว มิใช่ประโยชน์ตอบแทนทุกรายการที่กำหนดไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับ”

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่องค์การมหาชนพ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นสุดสัญญาเพราะเหตุอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ องค์การมหาชนไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างแต่อย่างใด

 
  1. คำบรรยายเนติบัณฑิตยภา ปี 2562 วิชากฎหมายแรงงาน โดยศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ
  2. บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจ่ายค่าชดเชยในกรณีการออกจากงงานเพราะเกษียณอายุของเจ้าหน้าที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เรื่องเสร็จที่ 1063/2554
  3. หนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร1200/ว13 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชน
 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

1. คำบรรยายเนติบัณฑิตยภา ปี 2562 วิชากฎหมายแรงงาน โดยศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ
2. บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจ่ายค่าชดเชยในกรณีการออกจากงงานเพราะเกษียณอายุของเจ้าหน้าที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เรื่องเสร็จที่ 1063/2554
3. หนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร1200/ว13 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชน


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความน่าอ่านเพิ่มเติม