“สินบน”
สินบน หมายถึง ทรัพย์สิน ของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ ภาษาปากเรียกว่า เงินใต้โต๊ะ หรือเงินแป๊ะเจี๊ยะ เช่น เงิน สิ่งของ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ เป็นต้น
ตัวอย่างพฤติกรรมการให้สินบน
- ชาวบ้านให้เหล้าหรือให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นสินน้ำใจตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ หรือเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เมื่อไปติดต่อราชการ
- โอนรถยนต์ให้แก่พนักงานเขต เพื่อให้ออกใบอนุญาตสถานบริการให้
- เจ้าพนักงานที่ดินเรียกรับเงิน เพื่อให้การจดทะเบียนที่ดินเร็วกว่าปกติ
- แม่ค้าจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่เทศบาล (เทศกิจ) เพื่อจะได้ค้าขายบนทางเท้าได้
- การให้เงินแก่โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนรับลูกหลานเข้าเรียน
- การให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมาย
- พฤติกรรมที่ไม่ได้เรียกรับ แต่ไม่ปฏิเสธ เป็นสินบนประเภทหนึ่ง เรียกว่า กินตามน้ำ เช่น เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับงานรับเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เรียกร้อง เพื่อให้โครงการผ่านการตรวจรับ
“ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ”
ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หมายถึง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จะต้องใช้ดุลพินิจ พิจารณา หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ แต่ตนเองกลับมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าไปแอบแฝงในเรื่องนั้น ๆ หรือนำประโยชน์หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ามามีอิทธิพลในการตัดสินใจดำเนินงานของรัฐ หรือใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้ดุลพินิจหรือปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง
ตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
- การรับผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การรับสินบน การรับของขวัญ การรับเงินบริจาค การเลี้ยงอาหารหรือการให้ความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการใช้งบประมาณเพื่อการจัดซื้อจัดจ้าง แล้วเจ้าหน้าที่ได้รับของแถมหรือประโยชน์อื่นเป็นการตอบแทน เป็นต้น
- การทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทของตนเอง หรือจ้างบริษัทตนเองเป็นที่ปรึกษา
- การนำทรัพย์สินของหน่วยงานไปใช้ส่วนตัว
- ลาออกจากหน่วยงานของรัฐไปทำงานในบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกัน
- เจ้าหน้าที่ทราบข้อมูลภายในหน่วยงานว่าจะมีการตัดถนนบริเวณใดก็รีบไปซื้อที่ดินบริเวณนั้นเพื่อประโยชน์ในการเวนคืน
- เจ้าหน้าที่ทำการส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นเครือญาติของตนเอง สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน หรือจะต้องไม่ใช่การเลือกส่งเสริมเฉพาะรายใดรายหนึ่ง และไม่เป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่นให้เข้ารับการส่งเสริม แต่หากเป็นการส่งเสริมเฉพาะเครือญาติหรือให้สิทธิญาติตนเองได้รับผลประโยชน์มากกว่าเกษตรกรรายอื่น จะถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เจ้าหน้าที่ไม่พึงปฏิบัติ
- หากชาวบ้านเป็นญาติ คนสนิท หรือแม้กระทั่งคนรู้จัก กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน แล้วมารับงานในหน่วยงาน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่มุ่งต่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้องมากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ของหน่วยงานที่จะได้จากบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน อย่างแท้จริง
“โดยหลักการ”
โดยหลักการ คือ กฎหมายห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วไม่ถึง 2 ปี รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น แต่มีข้อยกเว้นบางกรณีที่เจ้าหน้าที่สามารถรับไว้ได้โดยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย คือ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา
การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา หมายความว่า การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ (ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ คือ สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน) ที่ให้กันในโอกาสเทศกาลหรือวันสำคัญ รวมถึงในโอกาสการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคมด้วย ได้แก่
- การรับจากญาติ ซึ่งสามารถรับได้ไม่จำกัดจำนวน ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง คู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน เหลน ลื่อ ลุง ป้า น้า อา บุตรบุญธรรมหรือผู้รับบุตรบุญธรรม หรือจากญาติของคู่สมรส
- การรับเงินเดือน เงินสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง เป็นต้น
- การรับจากผู้ซึ่งไม่ใช่ญาติ โดยเป็นการให้ตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรม ที่มีราคาหรือมูลค่าแต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท เช่น พาไปรับประทานอาหาร มอบบัตรกำนัลของห้างสรรพสินค้า ให้กระเช้าของขวัญแก่เจ้าหน้าที่ในเทศกาลปีใหม่ การต้อนรับเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรม หรือให้กันตามมารยาทสังคม เป็นต้น
- การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้บุคคลทั่วไปโดยไม่เจาะจงผู้รับ เช่น การจับฉลาก
***
หากเจ้าหน้าที่ผู้ใดรับสินบนและ/หรือมีพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนจะมีความผิดตามกฎหมาย และมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
***
ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นพฤติกรรมการรับสินบน หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ของเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรผู้ปฏิบัติของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สามารถแจ้งข้อมูลผ่านช่องทาง ดังนี้
- กล่องรับเรื่องร้องเรียน
- ยื่นหนังสือหรือแจ้งด้วยตนเอง ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ
- ส่งไปรษณีย์ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เลขที่ 65 หมู่ 1 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
- โทรแจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ เบอร์ 053-328496-8 ต่อ 1109 ในวันและเวลาราชการ
- สายตรงผู้อำนวยการสถาบัน 053-328496-8 ต่อ 1203 ในวันและเวลาราชการ
- Email : [email protected]
- เว็บไซต์ https://www.hrdi.or.th
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “คู่มือการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและการเรียกรับสินบน” และ “ประกาศสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เรื่อง มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อน โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ T:\สำนักอำนวยการ\55.รวมระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ของสถาบัน\29.ผลประโยชน์ทับซ้อนและการเรียกรับ สินบน หรือในเว็บไซต์ สวพส. ไปที่เมนู "การดำเนินงาน" > "คุณธรรมและความโปร่งใส (ITA)" > แท็บ "คู่มือ"