บทความกฎหมายน่ารู้: ตัดกิ่งไม้ รากไม้ ดอกผล ของเพื่อนบ้านที่รุกล้ำ มีความผิดหรือไม่

กรณีกิ่งไม้ หรือรากไม้ หรือดอกผล ของเพื่อนบ้านยื่นล้ำเข้ามาในที่ดินข้างเคียง เป็นปัญหาที่ปัจจุบันพบเจอบ่อยครั้ง ซึ่งหลายครั้งสร้างความเดือนร้อนรำคาญให้กับเจ้าของที่ดิน กฎหมายจึงได้กำหนดความคุ้มครองให้แก่เจ้าของที่ดินที่มีกิ่งไม้ หรือรากไม้ หรือดอกผล ยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินของตน มีสิทธิจัดการกิ่งไม้ หรือรากไม้ หรือดอกผลนั้นๆ ด้วยตนเองได้ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและรายละเอียดดังนี้


  กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

   

  ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 1347 บัญญัติว่า “เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด ท่านว่าเจ้าของที่ดินตัดเอาเสียก็ได้”     มาตรา 334 บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท”
มาตรา 1348 บัญญัติว่า “ดอกผลแห่งต้นไม้ที่หล่นตามธรรมดาลงในที่ดินติดต่อแปลงใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น”     มาตรา 358 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
 

อธิบายสรุปเป็น 3 กรณี ดังนี้

กิ่งไม้

กรณีกิ่งไม้ของผู้อื่นยื่นล้ำเข้ามาในเขตที่ดินข้างเคียง เจ้าของที่ดินจะต้องบอกกล่าวเจ้าของต้นไม้ให้ตัดภายในเวลาที่กำหนดอันสมควร และเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่บอกกล่าวแล้วเจ้าของต้นไม้เพิกเฉย ไม่ยอมตัด เจ้าของที่ดินจึงจะสามารถตัดกิ่งไม้ที่ยื่นล้ำเข้ามานั้นได้ รวมถึงสามารถเอาดอกผลที่ติดมากับกิ่งไม้นั้นได้ด้วย โดยไม่ถือว่ามีความผิดเนื่องจากกฎหมายให้อำนาจไว้ ตามมาตรา 1347 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หากเจ้าของที่ดินไม่บอกกล่าวเจ้าของต้นไม้ให้ตัด แต่กลับตัดเองโดยพลการ เจ้าของที่ดินอาจมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยความผิดในทางอาญานั้นต้องพิจารณาเจตนาของเจ้าของที่ดินผู้ตัดเป็นกรณีไป ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฏเป็นที่เห็นได้ว่าเจ้าของที่ดินไม่มีเจตนากระทำผิดฐานทำให้เสียเสียทรัพย์ แม้จะไม่ได้บอกกล่าวเจ้าของต้นไม้เสียก่อน เจ้าของที่ดินก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินเพียงกระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่วๆ ไป เป็นเพียงการที่เจ้าของที่ดินไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1347 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2500)

รากไม้

กรณีรากไม้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินข้างเคียง เจ้าของที่ดินสามารถตัดรากไม้ที่รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของตนได้เลย โดยไม่ต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของต้นไม้ก่อน ตามมาตรา 1347 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จากกรณีข้อ 1 และ 2 ข้างต้น เจ้าของที่ดินสามารถตัดได้เพียง “กิ่งไม้” หรือ “รากไม้” ที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตนเท่านั้น ไม่มีสิทธิตัด “ต้นไม้” ของผู้อื่นได้เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ หากเจ้าของที่ดินตัดต้นไม้ของผู้อื่นโดยพลการอาจมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดในทางอาญาจะต้องพิจารณาจากเจตนาและพฤติการณ์เป็นกรณีไป)

ดอกผล (เช่น ดอกไม้หรือผลไม้)

กรณีกิ่งไม้ที่ยื่นล้ำเข้ามามีดอกผลติดอยู่ด้วย หากดอกผลนั้นหล่นในที่ดินของผู้อื่นเองตามธรรมชาติโดยไม่มีใครทำให้หล่น เจ้าของที่ดินที่ดอกผลหล่นลงมามีสิทธิเก็บดอกผลที่หล่นนั้นเป็นของตนเองได้ ส่วนดอกผลที่ยังไม่หล่นเพียงแต่ยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ดอกผลที่ยื่นล้ำนั้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของต้นไม้ เจ้าของที่ดินไม่มีสิทธิเก็บหรือเด็ดดอกผลนั้นมาเป็นของตนเองได้ ถ้าเก็บหรือเด็ดมาอาจมีความผิดฐานลักทรัพย์หรือฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 334 มาตรา 358 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดในทางอาญาจะต้องพิจารณาจากเจตนาและพฤติการณ์เป็นกรณีไป)

 

ตามที่กล่าวมานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งกฎหมายได้กำหนดคุ้มครองการใช้สิทธิของบุคคลไว้เพื่อไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ดังนั้น เจ้าของต้นไม้ควรระวังอย่าให้กิ่งไม้หรือรากไม้ยื่นล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้อื่น เพราะบางครั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินได้ ซึ่งหากเกิดความเสียหายแล้วถือว่าเจ้าของต้นไม้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น จะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วย

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2500 (ประชุมใหญ่)
2. ลงทุนลอว์, แบบนี้ของเพื่อนบ้าน หรือ ของเรา, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 จาก https://www.blockdit.com/posts/5ee6ffc7e5ea5106266b8375
3. ชมชื่น มัณยารมย์, การใช้สิทธิโดยสุจริต เพื่อนบ้านยังเป็นมิตรแท้ ไม่ผันแปรเพราะกิ่งไม้, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 จาก http://libdoc.dpu.ac.th/mtext/article/146423.pdf


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความน่าอ่านเพิ่มเติม