บทความกฎหมายน่ารู้: หลักฐานการกู้ยืมเงิน

“การกู้ยืมเงินหรือสัญญากู้ยืมเงิน” เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองชนิดหนึ่งที่ผู้ให้กู้โอนกรรมสิทธิ์ในเงินให้แก่ผู้กู้ และผู้กู้ตกลงว่าจะคืนเงินจำนวนเช่นเดียวกันแก่ผู้ให้กู้ภายในกำหนดเวลา ซึ่งในการกู้ยืมเงินจะกำหนดดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วยหรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมเรียบร้อยแล้ว

“หลักฐานการกู้ยืมเงิน” มีกฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก กำหนดว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” ซึ่งหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ไม่มีแบบฟอร์มตายตัวแต่ขอให้มีหลักฐานที่แสดงว่ากู้เงินกันก็เพียงพอแล้ว แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

1 กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมเงินกันเพียง 2,000 บาท หรือไม่เกิน 2,000 บาท

กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ดังนั้นแม้จะกู้ยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดสัญญาหรือผิดข้อตกลงก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย

2 กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมเงินกันเกิน 2,000 บาทขึ้นไป

2.1 กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย จึงจะสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้ หลักฐานการกู้ยืมเงินไม่จำเป็นต้องทำในรูปแบบสัญญา จะทำในรูปแบบใดก็ได้แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีข้อความที่แสดงว่ามีการกู้ยืมเงินกัน มีการรับเงินไปและจะใช้คืน โดยระบุจำนวนเงินที่กู้ยืม เช่น เขียนข้อความเป็นลายมือบนกระดาษเปล่าระบุว่า นาย A ได้ยืมเงินนาย B 10,000 บาท ได้รับเงินครบถ้วนแล้ว จะใช้คืนภายในสิ้นเดือน และลงชื่อนาย A ดังนี้ ถือว่ามีข้อความที่แสดงว่ารับเงินไปและจะใช้คืนโดยระบุจำนวนเงิน สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้

2.2 กฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อในหลักฐานการกู้ยืมเงิน แต่ที่สำคัญจะต้องลงลายมือชื่อผู้กู้ (กรณีผู้กู้ใช้วิธีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ 2 คน) กรณีผู้กู้ส่งข้อความยืมเงินทางแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ค (Facebook) หรือไลน์ (Line) กฎหมายให้ใช้ข้อความจากแชท รายละเอียดการโอนเงินออนไลน์ รวมทั้งให้ถือเอาชื่อเฟซบุ๊ค (Facebook) หรือไลน์ (Line) เสมือนเป็นการลงลายมือชื่อของผู้กู้ โดยถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้แล้ว สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2.3 หลักฐานการกู้ยืมเงินไม่จำเป็นต้องมีขึ้นในขณะทำสัญญากัน จะทำขึ้นก่อนหรือหลังทำสัญญากันก็ได้ แต่จะต้องมีก่อนฟ้องคดี เช่น ในขณะตกลงทำสัญญากันไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ภายหลังได้มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยมีข้อความที่แสดงว่ารับเงินไปและจะใช้คืนโดยมีการระบุจำนวนเงิน และลงชื่อผู้กู้ ถือว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้

2.4 กรณีการกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาทขึ้นไป ที่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ให้กู้จะฟ้องร้องบังคับคดีแก่ผู้กู้ไม่ได้ อีกทั้งไม่สามารถใช้ในการต่อสู้คดีได้ด้วย

  ข้อแนะนำในการกู้ยืมเงิน

  1. ห้ามลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าที่ไม่มีข้อความเด็ดขาด
  2. ควรทำเป็นสัญญากู้ยืมไว้ต่อกันโดยระบุรายละเอียดในสัญญาให้ชัดเจน อย่างน้อยจะต้องประกอบด้วย วันที่ทำสัญญากู้ยืมเงิน ชื่อนามสกุลของผู้กู้และผู้ให้กู้ จำนวนเงินที่กู้ กำหนดการชำระคืน ดอกเบี้ย (ถ้ามี) ลายเซ็นของผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยสัญญากู้ยืมต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับ ให้ผู้กู้ยึดถือไว้ 1 ฉบับ และให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้อีกหนึ่งฉบับ
  3. ตรวจสอบจำนวนเงินที่กู้ยืมให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา
  4. ต้องเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือไว้ด้วย
  5. ในสัญญากู้ยืมควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอย่างน้อย 1 คน
  6. การชำระหนี้กู้ยืมเงินไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขอใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงินซึ่งมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ลงกำกับด้วยทุกครั้ง เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

ดังนั้น ในการกู้ยืมเงินจึงมีความจำเป็นต้องทำด้วยวิธีการที่รอบคอบและควรต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน เมื่อเกิดปัญหาจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายได้ต่อไป

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ที่มา (บางส่วน) :
1. คำบรรยายเนติบัณฑิตยสภา วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ
2. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, แผ่นพับ เรื่อง การกู้ยืมเงิน, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564. จาก http://law.hcu.ac.th/upload/files/pdf/Law/
3. สำนักกิจการศาลยุติธรรม, LAWGET: Q&A ยืมเงินไม่มีสัญญา ฟ้องศาลได้หรือไม่?, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564. จาก https://justicechannel.org/lawget/qa?fbclid=IwAR2HpBOE_Kl5ST4DQ57v3fDep
PDCPtgS56usrU94SbjCpkwiTdJjEFLADD0


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความน่าอ่านเพิ่มเติม