บทความกฎหมายน่ารู้: การคืนหลักประกันสัญญา

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐทำสัญญากับเอกชน และได้มีการวางหลักประกันเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยหน่วยงานของรัฐจะคืนหลักประกันให้แก่คู่สัญญาเมื่อคู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว แต่มีบางกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถติดต่อคู่สัญญาเพื่อมารับหลักประกันคืนได้ หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการอย่างไร มีกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณา ดังนี้

  กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

  ข้อ 170 กำหนดว่า “ให้หน่วยงานของรัฐคืนหลักประกันให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอ คู่สัญญา หรือผู้ค้ำประกันตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(๒) หลักประกันสัญญาให้คืนให้แก่คู่สัญญา หรือผู้ค้ำประกันโดยเร็ว และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๕ วัน นับถัดจากวันที่คู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว ...”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  ข้อ 331 กำหนดว่า “ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของตน”

  ข้อ 333 กำหนดว่า “การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้”

จากหลักการตามกฎหมาย เมื่อมีการวางหลักประกันสัญญาและคู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่คืนหลักประกันให้แก่คู่สัญญา ในกรณีนี้คู่สัญญาจะถือเป็นเจ้าหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานของรัฐเป็นลูกหนี้ที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ พิจารณาได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

  • ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐสามารถติดต่อกับคู่สัญญาได้ หน่วยงานของรัฐจะต้องคืนหลักประกันให้แก่คู่สัญญาอย่างช้าต้องไม่เกิน 15 วัน นับถัดจากวันที่คู่สัญญาพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว โดยไม่ต้องรอให้มีการร้องขอคืนจากคู่สัญญาก่อน ตามข้อ 170 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • กรณีหน่วยงานของรัฐได้ติดตามให้คู่สัญญามารับหลักประกันสัญญาคืนภายในกำหนดแล้ว หากคู่สัญญาไม่มารับหลักประกันภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถติดต่อคู่สัญญาได้ หน่วยงานของรัฐจะต้องนำหลักประกันสัญญาไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้ (ส่วนกลาง ได้แก่ สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1-6 และส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ) ซึ่งผลของการวางทรัพย์ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ ไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด ผิดสัญญา ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน หรือเบี้ยปรับ และเจ้าหนี้จะร้องต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ไม่ได้ ตามนัยมาตรา 331 และมาตรา 333 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ทั้งนี้ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้เคยตอบข้อหารือเกี่ยวกับประเด็นการคืนหลักประกันสัญญาข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น

  หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.4/39563 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2563 เรื่อง ข้อหารือเกี่ยวกับการคืนหลักประกันสัญญา (สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)

 หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.4/46162 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เรื่อง ข้อหารือการนำหลักประกันสัญญาไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช)

 หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.3/43981 ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 เรื่อง ข้อหารือแนวทางปฏิบัติในการคืนหลักประกันสัญญาที่เป็นตัวเงินและนำฝากคลัง (กระทรวงพาณิชย์)

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความน่าอ่านเพิ่มเติม