สัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก โดยเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และได้กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หน่วยงานของรัฐสามารถเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามกฎหมาย ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใดนั้นให้พิจารณาตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
มาตรา 8 บัญญัติว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย เพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใดให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น”
จากบทบัญญัติข้างต้น เมื่อหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนแล้ว แต่มิได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะมีสิทธิได้รับเงินคืนเต็มจำนวนความเสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความเสียหายจริง หรือเต็มจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่และเพื่อประโยชน์ของรัฐ ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึง
1.
ระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี
2.
ความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม เช่น
ความเสียหายที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดจะต้องรับผิดนั้น หน่วยงานของรัฐที่เสียหายจะต้องกำหนดสัดส่วนความรับผิด โดยนำความบกพร่องของตนมาหักออกจากความรับผิดของเจ้าหน้าที่ด้วย ด้วยการพิจารณาว่าการละเมิดเกิดจากส่วนใดมากกว่ากัน และควรกำหนดสัดส่วนต่อกันเท่าใด
3.
กรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคนมิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตน กล่าวคือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายจะพิจารณากำหนดแบ่งความรับผิดของเจ้าหน้าที่แต่ละคน ว่าแต่ละคนควรจะต้องรับผิดชดใช้เป็นเงินเท่าใด เมื่อเจ้าหน้าที่คนใดได้ชดใช้ส่วนของตนไปแล้วก็พ้นจากความรับผิด
เมื่อหักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวแล้วจึงนำความเสียหายที่ลดส่วน และ/หรือหักส่วนแล้ว มาพิจารณาความรับผิดให้เหมาะสมตามพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่แต่ละราย โดยใช้แนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือเวียนกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค0406.2/ว.66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 เรื่อง แนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาใช้ประกอบเป็นแนวทางในการเรียกค่าสินไหมทดแทน ตามรายละเอียดที่แนบมาพร้อมนี้
ทั้งนี้ เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิด ทางละเมิดขึ้นเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้
แนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
1. สำนักความรับผิดทางแพ่ง ร่วมกับสำนักงานคลังเขต 7 กรมบัญชีกลาง, คู่มือการบรรยายความรู้เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่, สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จาก http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER20/DRAWER034/GENERAL/DATA0000/00000412.PDF
2. สายฝน โชชัย, การกำหนดสัดส่วนความรับผิดของเจ้าหน้าที่, สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จาก http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER2/DRAWER024/GENERAL/DATA0002/00002448.PDF
3. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙, สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 จาก https://www.krisdika.go.th/data/lawmistake/conlawmis.htm
4. หนังสือเวียนกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค0406.2/ว.66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 เรื่อง แนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่