ประชาชนส่วนใหญ่มักจะสับสนกับคำว่า “การแจ้งความ” กับคำว่า “การลงบันทึกประจำวัน” ซึ่ง 2 คำนี้มีผลทางกฎหมายที่แตกต่างกัน เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น เช่น การกระทำผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง ทำให้เสียทรัพย์ โกงเจ้าหนี้ บุกรุก หมิ่นประมาท เป็นต้น ในการดำเนินคดีอาญาเบื้องต้นจะต้องแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด การแจ้งความในกรณีนี้เรียกว่า “การแจ้งความร้องทุกข์” ส่วนกรณีที่ไม่ใช่ความผิดทางอาญาแต่ก็ต้องแจ้งความไว้เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เช่น การแจ้งความว่าเอกสารสำคัญต่าง ๆ สูญหาย การแจ้งในกรณีนี้เรียกว่า “การลงบันทึกประจำวัน” รายละเอียดดังนี้
“การแจ้งความร้องทุกข์”
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 คำว่า “คำร้องทุกข์” หมายความถึง “การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ”
จากคำนิยามข้างต้น อธิบายสรุปได้ว่า ผู้ร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายหรือเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย โดยต้องร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับ คำร้องทุกข์ คือ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวน และเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ ที่สำคัญการร้องทุกข์จะต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โดยต้องระบุอย่างละเอียดว่ามีความประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นหากมีเพียงเจตนาแจ้งให้พนักงานสอบสวนรับทราบไว้เป็นหลักฐานเท่านั้นจะไม่ใช่การร้องทุกข์ ซึ่งหากเป็นความผิดที่ยอมความได้ ผลทางกฎหมายคือจะทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายต่อไปได้ (พูดง่าย ๆ คือ เรื่องก็จะเงียบไป) เพราะเป็นเพียงแค่การลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น เช่น ในคดียักยอก ข้อความที่ว่า นำความมาแจ้งเพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน ถ้าหากจำเลยไม่ชำระเงินจะได้มาแจ้งเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงนำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน ไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 391/2527) ในความผิดฐานหมิ่นประมาท คำร้องทุกข์ระบุว่า แจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณา แสดงว่าขณะแจ้งยังไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ ไม่ใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 6644/2549) การแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อป้องกันมิให้คดีขาดอายุความไม่เป็นคำร้องทุกข์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 62/2561, 1713/2549)
หากมีการกระทำความผิดทางอาญาต่อสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เช่น คดีลักทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสถาบัน บุกรุกสถานที่ราชการ อุบัติเหตุรถชน หรือคดีที่บุคคลภายนอกขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของสถาบันเสียหาย เป็นต้น สถาบันถือเป็นผู้เสียหาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเป็นผู้แทนของสถาบันจะมอบอำนาจให้บุคคลใดดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์แทนก็ได้ โดยให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ และการแจ้งความร้องทุกข์จะต้องแจ้งให้ชัดเจนว่ามีความประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย เช่น มีข้อความว่า “ขอให้ตำรวจดำเนินคดีจนถึงที่สุด หรือขอให้ตำรวจไปจับกุมดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด” เป็นต้น นอกจากนี้การร้องทุกข์ไม่จำเป็นต้องระบุฐานความผิดเอาไว้ หรือไม่จำเป็นต้องรู้ข้อกฎหมายว่าเป็นความผิดข้อหาใด เพียงแค่เล่าเรื่องราวให้พนักงานสอบสวนฟังเพราะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนที่จะตั้งข้อหาเอง อีกทั้งการร้องทุกข์นั้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ได้ แม้ไม่รู้ว่าผู้ใดกระทำความผิดอาจระบุเพียงลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ และความเสียหายที่ได้รับเท่าที่จะบอกได้ก็เพียงพอที่จะเป็นคำร้องทุกข์ได้
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ หากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือเกิดเหตุการณ์ขึ้นในเวลากลางคืน ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนในพื้นที่ สำรวจความเสียหาย และรายงานเหตุการณ์ต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้อำนวยการสถาบันทันทีเพื่อขอรับคำแนะนำในเบื้องต้น โดยผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดนั้นสามารถแจ้งพฤติการณ์หรือรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนทราบในเบื้องต้นหรือลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานไปก่อน แต่อย่ารีบประนีประนอมหรือตกลงค่าเสียหายใด ๆ เอง หลังจากนั้นให้รายงานผู้บังคับบัญชาหรือผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของการแจ้งความร้องทุกข์รวมถึงการดำเนินคดีทางกฎหมาย กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ โดยการมอบอำนาจจากผู้อำนวยการสถาบันจะเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
“การลงบันทึกประจำวัน”
การลงบันทึกประจำวัน คือ การแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความลงไปในรายงานประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่ใช่การมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นการร้องทุกข์ เพราะไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ เป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ส่วนมากการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานจะเป็นเรื่องเอกสารสำคัญหาย เช่น บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง เพื่อจะได้นำบันทึกประจำวันไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเพื่อทำเอกสารฉบับใหม่ขึ้นมา หรือกรณีใบเสร็จรับเงิน สัญญา สูญหาย เป็นต้น
ดังนั้น หากผู้ใดซึ่งเป็นผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต้องตรวจสอบว่าการที่ไปแจ้งความนั้น ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดหรือไม่ เพราะหากเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ เช่น คดีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ ฉ้อโกง หมิ่นประมาท บุกรุก เป็นต้น จะมีอายุความเพียง 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ถ้าเพียงลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานอาจจะทำให้คดีขาดอายุความได้ และไม่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ให้เอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้อีกเนื่องจากขาดอายุความร้องทุกข์
1. คำบรรยายเนติบัณฑิตยสภาวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 1-2
2. ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน. ข้อแตกต่างระหว่างแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับแจ้งความเพื่อใช้เป็นหลักฐาน, สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.nitilawandwinner.com/content/18665/ข้อแตกต่างระหว่างแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับแจ้งความเพื่อใช้เป็นหลักฐาน