บทความกฎหมายน่ารู้: ความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดฐานดูหมิ่น

เสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าว จะต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นโดยมิชอบ ดังนั้น หากใช้เสรีภาพที่เกินขอบเขตโดยการแสดงความคิดเห็นที่แสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ผู้กระทำจะมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาตามมาตรา 393 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และหากเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจนน่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้กระทำจะมีความความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา รายละเอียดดังนี้


  “ความผิดฐานหมิ่นประมาท”


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 กำหนดว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ประกอบด้วย

ผู้ใด เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม การใส่ความ คือ การทำให้ปรากฏข้อเท็จจริงโดยอาจเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ถ้าหากพูดแล้วทำให้ผู้อื่นเสียหายก็เป็นความผิด แม้การเล่าเรื่องที่ได้ยินมาให้กับบุคคลอื่นฟังก็อยู่ในความหมายของคำว่าใส่ความด้วยเช่นกัน ดังนั้น การใส่ความจึงไม่จำกัดวิธีอาจใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้ เช่น การใช้คำพูด ภาพวาด การแสดงกิริยาอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ใช้ภาษาใบ้ หรือใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมถึงการใช้รูปภาพ เช่น การแอบถ่ายภาพคนที่กำลังร่วมประเวณีแล้วนำภาพเหล่านั้นไปให้ผู้อื่นดูถือได้ว่าเป็นการใส่ความและน่าจะทำให้เสียชื่อเสียงซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ข้อเท็จจริงที่จะเป็นหมิ่นประมาทได้นั้น ต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงคำหยาบหรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่น นาย ก กล่าวว่า “โจทก์เป็นผีปอบเป็นชาติหมา” ความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น จึงไม่ทำให้ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด เป็นเพียงคำหยาบคายเท่านั้น (จะต้องเอาความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดามาเปรียบเทียบ)

นอกจากนี้ การใส่ความจะต้องเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามด้วย ดังนั้น บุคคลที่สามจึงมีความสำคัญ ความผิดจะสำเร็จต่อเมื่อบุคคลที่สามได้รับทราบข้อความและเข้าใจข้อความหมิ่นประมาทนั้น ถ้าไม่มีบุคคลที่สามจะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ถ้ามีบุคคลที่สามแต่บุคคลที่สามไม่เข้าใจข้อความ เช่น เป็นคนหูหนวก หรือเป็นชาวต่างชาติไม่เข้าใจภาษาไทย จะเป็นความผิดฐานพยายามหมิ่นประมาท

โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ในการพิจารณาว่าน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ พิจารณาตามความรู้ความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป ถ้าวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า “น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง” และแม้ผู้กระทำจะไม่รู้ว่าน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว ดังนั้น เพียงแค่ “น่าจะ” ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ยังไม่มีความเสียหาย เกิดขึ้นจริงก็ถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว

ผู้กระทำต้องมีเจตนา กล่าวคือ เจตนาที่จะใส่ความ หรือเจตนาแสดงข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งพาดพิงไปถึงผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม

  ตัวอย่างคำพิพากษาความผิดฐานหมิ่นประมาท

  พูดใส่ความให้ถูกมองว่าเป็นคนทุจริต

  นายดำพูดถึง น.ส.ขาว ซึ่งเป็นหญิงทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอว่า “กระหรี่ที่ดิน” คำว่ากระหรี่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่า น.ส.ขาว เป็นหญิงโสเภณีหรือหญิงค้าประเวณี แม้จะไม่ได้กล่าวรายละเอียดว่าค้าประเวณีกับใคร ประพฤติสำส่อนทางเพศกับใคร

  นางเอ ด่านางบี ว่าเป็นเมียน้อยต่อหน้าเพื่อนของนางหญิงบี

  นาย ก. นำความเท็จไปร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมว่านาย ข. ซึ่งเป็นผู้พิพากษาไปร่วมกินเลี้ยงกับนาย ค. ผู้ซึ่งนาย ข. พิพากษาให้ชนะคดีที่ร้านข้างศาลในตอนเย็นวันตัดสิน และนาย ก. ได้ไปยืนยันให้ถ้อยคำต่ออธิบดีผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนาย ข. เพื่อให้ดำเนินการทางวินัยแก่นาย ข. ข้อความที่นาย ก. แจ้งมีความหมายไปในทางหาว่านาย ข. ประพฤติตนไม่สมควรเป็นไปในทำนองพิพากษาคดีโดยไม่สุจริต

นอกจากนี้หากมีการโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง หรือประกาศ หรือโฆษณา อันมีลักษณะทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก และมีโอกาสที่ข้อความดังกล่าวนั้น จะถูกเผยแพร่ออกไปด้วยความรวดเร็ว จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 ซึ่งผู้กระทำจะได้รับโทษหนักขึ้นกว่าหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกด้วย

 

ทั้งนี้ หากเป็นกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตได้แก่ (1) การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใด เพื่อความถูกต้องหรือเพื่อป้องกันชื่อเสียงหรือประโยชน์ของตนไม่ให้ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากการกระทำของผู้อื่น หรือ (2) กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ เช่น พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการซึ่งข้อความในสำนวนการสอบสวนมีข้อความหมิ่นประมาท หรือ (3) พูดติชมอันเป็นวิสัยของประชาชนทั่วไปที่สามารถกระทำได้ เช่น เรื่องกิจการบ้านเมือง กิจการสาธารณะหรือพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือ (4) การแสดงความคิดเห็นที่เป็นการแจ้งข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล เช่น การประกาศรายชื่อบุคคลล้มละลาย หรือการแสดงความคิดเห็น ในการประชุมที่เปิดเผยไม่ใช่การประชุมลับ เช่น การอภิปรายในสภา เป็นต้น ผู้กระทำจะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 329

อย่างไรก็ตาม หากข้อเท็จจริงไม่มีบุคคลที่สามอยู่ด้วยอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามมาตรา 393 ซึ่งการดูหมิ่นซึ่งหน้าเป็นความผิดลหุโทษ ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีโทษเบาหรือโทษที่ไม่ร้ายแรง คือ ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  “ความผิดฐานดูหมิ่น”


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 กำหนดว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดูหมิ่น หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า ส่วนกรณีคำหยาบคายไม่สุภาพ คำแดกดัน คำสาปแช่ง คำขู่อาฆาต คำปรับทุกข์ คำโต้เถียง คำกล่าวติชม ตามปกติวิสัยไม่เป็นการดูหมิ่น และการดูหมิ่นนั้นอาจเป็นการกระทำด้วยวาจา กริยาท่าทาง หรือโฆษณาก็ได้ โดยการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นตามมาตรา 393 นั้น ต้องเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ดังนี้

  “การดูหมิ่นซึ่งหน้า” ต้องมีลักษณะของการเจตนาดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า อันเป็นการประทุษร้ายต่อความรู้สึกของผู้อื่น อาจกระทำด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางก็ได้ โดยจะต้องมีการกล่าวหรือแสดงกิริยาท่าทางที่เป็นการดูหมิ่นให้ผู้อื่นทราบในขณะที่มีการกระทำในทันทีทันใด เช่น ด่าผู้อื่นว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” “ตอแหล” “ผู้หญิงชั่ว” “ไอ้หน้าโง่” “อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย มึงคิดว่าเมียกูกินเงินไปหรือไง” “อีดอก”

  “การดูหมิ่นด้วยการโฆษณา” ต้องมีลักษณะของการแพร่หลายหรือเผยแพร่ออกไปยังสาธารณชนหรือการป่าวประกาศ อาจกระทำโดยเอกสารภาพวาด ภาพยนตร์ หรือการกระจายเสียง การดูหมิ่น ด้วยการโฆษณานี้แม้เป็นการกล่าวลับหลังผู้เสียหายก็เป็นความผิดแล้ว เช่น การลงโฆษณาคำดูหมิ่นลงในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงอาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากทุกคนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตนและของผู้อื่น บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามกรณีข้างต้นย่อมไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ
source!='') { ?>
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

1. คำบรรยายเนติบัณฑิตยสภาวิชากฎหมายอาญา มาตรา 288-366/4
2 น.ส.อวิการัตน์ นิยมไทย สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.การปฏิรูปกฎหมาย: LAW REFORM, สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/10reform/reform57.pdf


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความน่าอ่านเพิ่มเติม